ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
MJU Corporate Communication Center

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์  อัครราชกุมารี  เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้  ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๘-๒๕๕๙ (ครั้งที่ ๓๙)  ณ  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  อำเภอสันทราย   จังหวัดเชียงใหม่   ในวันเสาร์ที่ ๑๘ และวันอาทิตย์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐  ซึ่งในปีนี้มีบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร จำนวน ๔,๑๒๖ ราย  แยกเป็น ระดับบัณฑิตศึกษา (ป.โท-ป.เอก) จำนวน ๑๘๖ ราย และ ระดับบัณฑิต (ป.ตรี) จำนวน  ๓,๘๗๖ ราย  และพระบัณฑิต ๖๔ รูป

ในการนี้  สภามหาวิทยาลัยแม่โจ้มีมติอนุมัติปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๗ ราย  มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๓ ราย ให้แก่ผู้สร้างคุณประโยชน์ต่อองค์กรและสังคมประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี  และศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่นเพื่อเข้ารับพระราชทานโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น  จำนวน  ๖  ราย  ดังนี้

ผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๗ ราย

๑. พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ   ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารศาสตร์

การศึกษา  โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 (จปร.๒๓), รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม, หลักสูตร Captain to Major Course จาก New Zealand  Army,  หลักสูตรหลักประจำ ชุดที่ ๖๓ จากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก, ชุดที่ ๔๒ จากวิทยาลัยการทัพบก และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๔๙

ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง  องคมนตรี

พลเอก ดาว์พงษ์  รัตนสุวรรณ   มีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จในการเป็นแบบอย่างที่ดีหลายประการ อาทิ การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ กำหนดนโยบายการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติ และแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน โดยเน้นการรักษาทรัพยากรป่าไม้ แนวทางการป้องกันและปราบปรามการลักลอบบุกรุกพื้นที่ การกำหนดนโยบายการบริหารจัดการทรัพยากรทางน้ำ  และการแก้ปัญหาภัยแล้ง นอกจากนี้ มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยเป็นผู้จัดทำโครงสร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และเป็นผู้วางแผนงานในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบ ท่านยังเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การจัดทำยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเมื่อครั้งที่ท่านดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ท่านมีวิสัยทัศน์ ได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านการศึกษา จัดทำแผนการศึกษาชาติ ขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาใน ๖ ยุทธศาสตร์เร่งด่วน ท่านเป็นผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพด้านการทหารและการปกครอง จนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์, ผู้บัญชาการกองพลที่ ๑ รักษาพระองค์  เสนาธิการทหารบก, รองผู้บัญชาการทหารบก และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการปฏิรูปการศึกษา

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เป็นผู้มีผลงานอันเป็นแบบอย่างและมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการเพื่อความเจริญก้าวหน้า ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งด้านการศึกษา เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

๒. พันเอก ดร.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ   ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัล

การศึกษา ระดับปริญญาโท จำนวน ๒ ปริญญา ได้แก่ สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จาก สถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย และสาขาวิชาวิศวกรรมสื่อสารและโทรคมนาคม (ระบบสื่อสารเคลื่อนที่และเซลลูล่า) จาก มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน และ ระดับปริญญาเอกสาขาวิชาวิศวกรรมสื่อสารและโทรคมนาคม จาก State University System of Florida (Florida Atlantic University) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม และรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์  มะลิสุวรรณ  เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่น เป็นนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่จำนวนมากและเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ได้รับรางวัล “นำเสนองานวิจัยดีเด่น” จากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๘  และท่านยังเป็นผู้มีความรู้ความสามารถด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม โดยได้รับมอบหมายหน้าที่ที่สำคัญ อาทิ เลขานุการ ประธานกรรมการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนี้ ยังดำรงตำแหน่งประธานโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการกำกับดูแลเรื่องการบริหารคลื่นความถี่ด้วยเทคโนโลยี Dynamic Spectrum Allocation เพื่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ท่านได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี อันเป็นที่ประจักษ์จึงได้รับการยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ ได้รับรางวัล ‘Executive of the Year ๒๐๑๖’สาขานวัตกรรมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม เมื่อปี ๒๕๕๘ , รางวัล “นักบริหารดีเด่นแห่งปี ประจำปี ๒๕๕๙”สาขานวัตกรรมด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม

พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นผู้ประสบความสำเร็จในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับด้วยการยกย่องอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้เปี่ยมด้วยความรู้ทางวิชาการและการวิจัยทางการสื่อสาร ดำรงตนเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่งสมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักด์ิ สาขาวิชาการสื่อสารดิจิทัล เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

 

๓. นายสมชาย เขียวแดง  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว 

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น ๔๙)

ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และอินทนนท์

นับแต่ปี ๒๕๒๙  นายสมชาย  เขียวแดง  ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ และดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลายแห่ง ท่านเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีความรับผิดชอบ จนประสบความสำเร็จ และได้รับความไว้วางใจแต่งตั้งให้เป็นกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง และสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ จนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นสถานีหลักในการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวงในการปฏิบัติภารกิจงานด้านต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้ปฏิบัติงานพิเศษ เช่น เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ในโครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว),  โครงการความร่วมมือระหว่างมูลนิธิโครงการหลวงและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์, เป็นที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ สำนักราชเลขาธิการ อำเภอเมือง และอำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย   ท่านยังมีผลงานวิชาการดีเด่น โดยได้เข้าร่วมโครงการวิจัยต่างๆ และนำไปพัฒนาส่งเสริมสถานีเกษตรหลวง ทั้งด้านการปลูกพืช ปลูกไม้ดอก สมุนไพร ทำปุ๋ยหมัก และการท่องเที่ยว ฯลฯ ซึ่งทำให้สถานีเกษตรหลวงอ่างขางและอินทนนท์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรชาวเขาด้านต่างๆ ช่วยให้เกษตรกร ชาวนา และชุมชนบนพื้นที่สูงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ จนเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ที่มีคุณภาพด้านวิชาการเกษตรอย่างแท้จริง นอกจากนี้ในส่วนของงานส่งเสริมและการท่องเที่ยวในสถานีเกษตรหลวงอ่างขางและอินทนนท์นั้น ท่านได้วางแผนจัดระบบและพัฒนาทั้งสองสถานีจนกระทั่งได้รับการรับรองมาตรฐานและรางวัลด้านการท่องเที่ยวจากหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวระดับประเทศ เช่น รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ ๑๐ ประจำปี ๒๕๕๘ จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยสถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้รับรางวัลยอดเยี่ยม และสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และรางวัลอื่นๆอีกหลายรางวัล อีกทั้งท่านยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ เช่น ส่งเสริมให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแม่โจ้เข้าฝึกงานในสถานีเกษตรหลวงทั้งสองแห่ง นอกจากนี้ยังอบรมให้ความรู้แก่นักศึกษาและร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้อย่างสม่ำเสมอ

นายสมชาย เขียวแดง เป็นผู้มีผลงานวิชาการดีเด่นเป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพนั้นจนปรากฏเป็นที่ยอมรับเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอเนกประการ ด้วยความตั้งใจจริง จึงนับเป็นผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาการท่องเที่ยว เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

๔.นายโชคดี ปรโลกานนท์    ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาพืชไร่ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น ๔๕)

ปัจจุบัน  ประธานมูลนิธิเกษตรกรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น สวนลุงโชค, ประธานเครือข่ายปราชญ์เกษตร สปก.อีสาน

นายโชคดี ปรโลกานนท์ เป็นเกษตรกรที่น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้ในการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิต มีผลงานด้านการทำเกษตรพอเพียงและการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นที่ประจักษ์ กระทั่งได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์เกษตรของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (เครือข่ายเกษตรพอเพียง)ปราชญ์เกษตรเศรษฐกิจพอเพียงของสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์(สป.กษ.) ประจำปี ๒๕๕๐ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาเศรษฐกิจพอเพียง ประจำปี ๒๕๕๖  ท่านเป็นบุคคลตัวอย่างที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นในด้านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านพืชไร่มาแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การทำการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนและท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการอนุรักษ์และวิจัยกระทิงเขาแผงม้า เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลพืชและสัตว์ในพื้นที่เขาแผงม้า โครงการเรารักษ์แม่น้ำมูล  โครงการห้องเรียนธรรมชาติ  ท่านได้เป็นผู้ริเริ่ม แนวคิดด้านการเกษตรในรูปแบบ “วนเกษตร” ซึ่งเป็นการทำ การเกษตรแบบยั่งยืนเน้้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่า พึ่งพาตนเองและหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธการใช้สารเคมีในการเกษตร

นายโชคดี ปรโลกานนท์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในด้านการเกษตร จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสร้างคุณประโยชน์ให้แก่สังคมและประเทศชาติ จนเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมสมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

๕.นายสุรเดช เตียวตระกูล     ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาเกษตรศาสตร์ วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม, ปริญญาโท สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  

นายสุรเดช  เตียวตระกูล  เริ่มต้นทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่การเกษตร ๑ ในสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จากนั้นได้โอนย้ายมารับราชการสังกัดกรมพัฒนาที่ดินและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญเรื่อยมา ท่านเป็นผู้มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ดังตัวอย่างผลงานด้านวิชาการ อาทิ ได้รับรางวัลชนะเลิศการออกแบบการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ ปี 2524 จ.ร้อยเอ็ด, รับรางวัลชนะเลิศการปลูกหญ้าแฝกดีเด่น ปี 2554 จ.ศรีสะเกษ จากการปฏิบัติราชการจนเป็นที่ประจักษ์ ท่านจึงได้รับพระราชทานเหรียญจักรพรรดิมาลาและเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นประถมาภรณ์ช้างเผือก  ได้เป็นผู้อัญเชิญเครื่องอิสริยยศและพระแสงปฏักในพระราชพิธีมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประจำปี ๒๕๕๖ นอกจากนั้นท่านยังได้รับรางวัลด้านการบริหารจัดการ อีกหลายรางวัล  สำหรับผลงานเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณชน ท่านได้จัดทำโครงการต่างๆ อาทิ โครงการความร่วมมือระหว่างสถาบัน IRD  สถาบัน INRA ประเทศฝรั่งเศสกับกรมพัฒนาที่ดิน ระหว่างปี  ๒๕๕๙-๒๕๖๒ ซึ่งเป็นความร่วมมือด้านการทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ การปรับปรุงบำรุงดินและการจัดทำฐานข้อมูลดินของประเทศไทยให้เป็นสากล  อีกทั้งแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี–เจ้าพระยา-แม่โขง นอกจากนี้ ยังเป็นประธานการจัดงาน “วันดินโลก ปี ๒๕๕๘ โดยกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และประธานคณะกรรมการกลุ่มความร่วมมือด้านดินแห่งภูมิภาคอาเซียน ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านดินระดับโลก

นายสุรเดช เตียวตระกูล เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไปเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม รวมทั้งทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการใช้ที่ดินและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

 

๖.นายพิสิฐ โอมพรนุวัฒน์    ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์

การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ

ปัจจุบัน ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการสายธุรกิจเป็ดเนื้อ บริษัท ซี.พี.เมอร์เซนไดซิ่ง จำกัด

นายพิสิฐ  โอมพรนุวัฒน์  เริ่มต้นทำงานในตำแหน่งพนักงานจัดซื้อวัตถุดิบ บริษัท กรุงเทพ ฟีดมิลล์ จำกัด ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗  และจากนั้นได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการแผนกต่างๆ ของบริษัทในเครือ และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพนั้น จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอย่างเต็มความสามารถ และสร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินกิจกรรมของบริษัทอย่างต่อเนื่อง จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารระดับสูงของเครือเจริญโภคภัณฑ์  นอกจากนั้น ท่านยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลผลิตทางการเกษตรในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้ร่วมบุกเบิก วางนโยบายและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารในประเทศไทย  เป็นผู้ร่วมบุกเบิกสำคัญในการเปิดตลาดต่างประเทศและร่วมพัฒนาการค้าระหว่างประเทศให้แก่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในกลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์การเกษตรและประมง เป็นผู้ร่วมสนับสนุนสำคัญในการดำเนินนโยบายการค้าต่างประเทศของภาครัฐ ช่วยประสานงานระหว่างประเทศ อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของประเทศไทยในการปฏิบัติงานด้านการค้าต่างประเทศ  นอกจากนี้ยังเป็นผู้เชื่อมความสัมพันธ์ทูตทางการค้า ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการค้าและด้านอื่น ๆ ของประเทศ มีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยในการเป็นครัวของโลกสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยยกระดับและความปลอดภัยตลอดกระบวนการควบคู่ไปกับการส่งเสริมเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ตลอดจนบรรเทาความหิวโหย การเข้าถึงอาหารและภาวะทุพโภชนาการในสังคมให้แก่คนในประเทศและประชากรโลก

นายพิสิฐ  โอมพรนุวัฒน์ เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

๗.นายวรวัชร ตันตรานนท์  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ

การศึกษา ระดับปริญญาตรี  สาขานิติศาสตรบัณฑิต  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เนติบัณฑิตไทย จากเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์, ระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเซ็นหลุยส์ มลรัฐมิซูรี  สหรัฐอเมริกา

ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง กรรมการ/ผู้บริหาร บริษัท ชอยศ์ มินิสโตร์ จำกัด

นายวรวัชร  ตันตรานนท์  เป็นผู้ประสบความสำเร็จในอาชีพ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บริหารระดับสูง หลายตำแหน่ง อาทิ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บริหารระดับสูงหลายตำแหน่ง อาทิ กรรมการบริหาร บริษัท ซีอาร์เชียงใหม่ (ประเทศไทย) จำกัด กรรมการบริหาร บริษัท ตันตราภัณฑ์ซุปเปอร์มาเก็ต (1994) จำกัด กรรมการบริหาร บริษัท ซอยมินิ สโตร์ จำกัด  ท่านประสบความสำเร็จด้านธุรกิจจนเป็นที่ประจักษ์ ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ชอยส์ มินิสโตร์ และได้ขยายธุรกิจ ในเขตพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า ๓๐๐ สาขา นอกจากนี้ท่านยังได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ในการศึกษา จึงได้บริจาคทุนทรัพย์ และครุภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาอีกหลายโครงการ อีกทั้งได้สละทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่อง ในด้านการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน  ท่านเป็นผู้เสียสละโดยใช้ความรู้ความสามารถด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมเป็นอเนกประการ อาทิ งานด้านเศรษฐกิจ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานหอการค้า จังหวัดเชียงใหม่, ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมนักธุรกิจไทยจีนเชียงใหม่ และยังดำรงตำแหน่งในด้านการส่งเสริมกิจการของสถาบันการศึกษาอีกหลายสถาบัน

นายวรวัชร  ตันตรานนท์  เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนเป็นที่ปรากฏ  อีกทั้งเป็นผู้เสียสละด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม  และทำคุณประโยชน์ให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นอเนกประการ  นับเป็นบุคคลที่มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม  สมควรได้รับพระราชทานปริญญา  ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

 

ผู้ได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จำนวน ๓ ราย

 ๑. นางสาวประทุม สุริยา   วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิชาเคมี วิทยาลัยวิชาการศึกษาพระนคร,  ปริญญาโท สาขาวิชาเคมี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบัน  เจ้าของศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่สวนครูประทุม

นางสาวประทุม สุริยา ได้เริ่มจากการรับราชการครูโท ที่วิทยาลัยเทคนิคพายัพ ตั้งแต่ปี ๒๕๑๗ และได้เจริญก้าวหน้าเรื่อยมากระทั่งเป็นอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ เมื่อปี ๒๕๔๒  จากนั้นในปี ๒๕๔๔ ได้เริ่มประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยใช้ความรู้ความสามารถประกอบสัมมาชีพด้วยความเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมาโดยตลอด อาทิ ดำรงตำแหน่งผู้จัดการศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายใต้ชื่อสวนครูประทุม,  เป็นที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช องค์การบริหารส่วนตำบลสันป่ายาง ปี ๒๕๕๖, เป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่ ปี ๒๕๕๗   นอกจากนี้ ท่านยังได้ได้ใช้ความรู้ความสามารถเผยแพร่ผลงานในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมเพื่อประโยชน์แก่เกษตรกรและสาธารณชนหลายประการ อาทิ เป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่หน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ ถึงปัจจุบัน ท่านยังเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ปราชญ์แปลงเกษตรทฤษฎีสวนครูประทุม เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้และดูงานสำหรับบุคคลทั่วไปทั้งภาครัฐและเอกชน  โดยเป็นศูนย์ถ่ายทอดต้นแบบการแก้วิกฤตอาหารและพลังงานอย่างยั่งยืน ถ่ายทอดผลงานทางศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน หลักสูตร ชีวิตจะสุขถ้าบำบัดทุกข์ด้วยความพอเพียง, เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีความรู้ด้านการพัฒนาที่ดิน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศไทย (ออร์แกนิคไทยแลนด์) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ท่านมีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันยอดเยี่ยมเป็นที่ประจักษ์ อาทิ ได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาบัญชีฟาร์ม ปี ๒๕๕๒, ได้รับรางวัลปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ด้านเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดเชียงใหม่, เป็นครูทรงปัญญาของพระเจ้าแผ่นดิน มูลนิธิปิดทองหลังพระ จังหวัดเชียงใหม่ ปี ๒๕๕๔, เป็นบุคคลผู้ผลิตข้าวอินทรีย์ดีเด่น กรมการข้าว ปี ๒๕๕๗, ได้รับรางวัล “ปราชญ์ ผญาดี ศรีล้านนา” สาขาเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ปี ๒๕๕๙

นางสาวประทุม สุริยา เป็นผู้ประสบความสำเร็จในวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม และเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสมอย่างยิ่ง สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพัฒนาทรัพยากรและส่งเสริมการเกษตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

   

๒.นายสมบัติ นิ่มเงิน  วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพืชไร่

การศึกษา  ปริญญาตรี  สาขาวิชาพืชสวน เอกพืชสวนประดับ  สถาบันเทคโนโลยี การเกษตรแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น ๔๘)

ปัจจุบัน รองกรรมการผู้จัดการบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิวส์ จำกัด, บริษัท เจริญแพลนชั่น จำกัด ประเทศกัมพูชา

นายสมบัติ  นิ่มเงิน  ได้นำความรู้ที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ไปใช้ในการปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลังความสามารถจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน  โดยเริ่มต้นทำงานในบริษัท  เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์  จำกัด  ตำแหน่งพนักงานการตลาด จากนั้นได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด อีกหลายตำแหน่ง ท่านเป็นผู้มีความวิริยอุตสาหะ  มีความรู้ความสามารถในการบริหารงานธุรกิจเกษตรแบบครบวงจร  โดยใช้ความเชี่ยวชาญในการผลิตข้าวโพดเป็นพื้นฐานในการต่อยอดธุรกิจจนเป็นที่ยอมรับและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง  ได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน  โดยได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายความรู้ให้แก่ส่วนราชการ  เกษตรกร  และผู้นำชุมชนของประเทศไทย  และพระราชอาณาจักรกัมพูชา เกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์  การปลูกข้าวและพืชไร่ และใช้ความรู้ความสามารถช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรของประเทศไทยมีอาชีพทางการเกษตรที่มั่นคงและมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  นอกจากนั้น ท่านยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้หลายประการ สนับสนุนกิจการต่าง ๆ  ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่อง  อาทิ  ประสานงานในการสนับสนุนทุนการศึกษาของบริษัทให้แก่นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ต่อเนื่องทุกปี, ประสานความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยในพระราชอาณาจักรกัมพูชากับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและด้านการศึกษา อีกทั้งให้ความอนุเคราะห์ในการรับนักศึกษาเข้าฝึกงานรายวิชาสหกิจศึกษาใน   พระราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม           

นายสมบัติ  นิ่มเงิน  เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ  เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป  เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคมและเป็นผู้ประกอบด้วยคุณธรรมและจริยธรรม  รวมทั้งทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ  นับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม  สมควรได้รับพระราชทานปริญญา วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์  สาขาวิชาพืชไร่  เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป   

 

๓. นายสุทัน นามจักร   บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ

การศึกษา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเกษตรกรรมแม่โจ้  (แม่โจ้รุ่น ๒๘), ปริญญาตรี ศึกษาศาสตร์ – เกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบัน  ประกอบธุรกิจส่วนตัว หจก.ส.ท.ธัญพรยานยนต์, ร้าน S.T. Auto Service

นายสุทัน  นามจักร เริ่มทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยอาจารย์ ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) เมื่อปี๒๕๑๒ ต่อมาสอบบรรจุตำแหน่งอาจารย์ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย เมื่อปี ๒๕๑๓ จากนั้นได้เข้าทำงานเป็นพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ เมื่อปี ๒๕๑๗ ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ท่านได้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน จนได้รับตำแหน่งเป็นผู้จัดการสาขาต่างๆ ของธนาคารไทยพาณิชย์ อีกหลายสาขา และยังได้เป็นวิทยากรของธนาคารไทยพาณิชย์เพื่อฝึกอบรมพนักงานตามสาขาต่าง ๆ และได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษสอนเรื่องการเงินการธนาคารให้แก่คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อปี ๒๕๓6  และเคยได้รับเลือกเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี  ๒๕๔๖   ท่านมีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดีประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการประกอบธุรกิจส่วนตัว ทั้งกิจการร้านจำหน่ายยางรถยนต์ แบตเตอรี่น้ำยาทายางรถยนต์ และประสบความสำเร็จในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยลงทุนก่อสร้างอาคารห้องพักให้เช่า และซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นนักกอล์ฟทีมชาติอาวุโส ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ – ๒๕๕๘  ซึ่งท่านยังได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน โดยเป็นผู้ฝึกสอนกีฬากอล์ฟให้แก่เยาวชน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการโดยส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ทั้งด้านการกีฬา รวมทั้งกิจกรรมด้านอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่อง

นายสุทัน  นามจักร เป็นผู้ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป เป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์สำคัญให้แก่สถาบันเป็นอเนกประการ นับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและมีคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับพระราชทานปริญญา บริหารธุรกิจมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

 

ผู้ได้รับโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น ประจำปี  ๒๕๕๙ จำนวน  ๖ ราย

๑. นายเจียม ดวงสงค์   ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๒๓   

การศึกษา ประกาศนียบัตรประโยควิชาชีพเกษตรกรรม และประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยมเกษตรกรรม จากวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้)

ปัจจุบัน ประกอบธุรกิจส่วนตัว ที่ปรึกษาบริษัทไทยฟาร์มมิ่ง, ประธานพัฒนาฟุตบอล  มหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายเจียม ดวงสงค์ เป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) ตั้งแต่ปี ๒๕๐๑ - ๒๕๐๕ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศฟุตบอลประชาชนต่อเนื่องทุกปี ต่อมาเมื่อ ปี ๒๕๐๖ ได้เข้ารับราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) ในตำแหน่งครูตรี สอนวิชาถนอมอาหาร วิชาภูมิศาสตร์ และวิชาการสงวนทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนั้นท่านยังเป็นผู้ฝึกสอนและเป็นนักกีฬาฟุตบอลทีมวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) ตั้งแต่ ปี ๒๕๐๖ - ๒๕๑๖ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศฟุตบอลประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ต่อเนื่องทุกปี จนได้รับเสื้อสามารถด้านฟุตบอลในฐานะผู้เล่นยอดเยี่ยมของจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2507  และองค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ.2512

ท่านเป็นผู้ริเริ่มการรับนักศึกษาผู้มีความสามารถพิเศษด้านกีฬาฟุตบอล (โครงการช้างเผือกปัจจุบัน) เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้), ในปี ๒๕๑๑ - ๒๕๑๙ ท่านเป็นผู้ฝึกสอนนักกีฬาฟุตบอลประชาชนทีมจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันกีฬาเขตแห่งชาติ ครั้งที่ ๑๑  จากนั้นในปี ๒๕๑๙ ท่านได้ลาออกจากราชการเพื่อประกอบอาชีพส่วนตัว แต่ท่านก็ยังช่วยงานด้านกีฬาฟุตบอลให้แก่วิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (แม่โจ้) มาโดยตลอด  ในปี 2531 ท่านได้ทำหน้าที่เป็นผู้ฝึกสอนกีฬาฟุตบอลประชาชนทีมจังหวัดเชียงใหม่และได้รับรางวัลชนะเลิศฟุตบอลยามาฮ่าคัพแห่งประเทศไทย  ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นประธานพัฒนาฟุตบอลของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ตั้งแต่ ๒๕๕๕ จนถึงปัจจุบัน

นายเจียม ดวงสงค์ ได้ช่วยงานกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ด้วยดีเสมอมา อีกทั้งยังช่วยประสานงานกับศิษย์เก่าแม่โจ้ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ และต่างจังหวัด เพื่อให้ความร่วมมือด้านกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้และสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้มาโดยตลอด จึงนับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่นหลัง  เป็นผู้ประสบความสำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ มีความสามารถโดดเด่นทางด้านการกีฬา รวมทั้งเป็นผู้อุทิศตนทางด้านศาสนาและศิลปวัฒนธรรม เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป นับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม  สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

๒. นายสุกิจ ติดชัย   ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๔๘

การศึกษา  ปริญญาตรี สาขาสัตวศาสตร์(โคนมและโคเนื้อ) สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ปริญญาโท สาขาสัตวศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยแม่โจ้

นายสุกิจ ติดชัย ได้รับการบรรจุในตำแหน่งนักวิชาการเกษตร ในสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ และได้รับการเลื่อนระดับมาโดยลำดับ ท่านเป็นบุคลากรตัวอย่างสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี ๒๕๕๑ และได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนข้าราชการดีเด่น ระดับ ๑ – ๘ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประจำปี ๒๕๕๓ และได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ เข้ารับเกียรติบัตรและครุฑทองคำ เมื่อปี ๒๕๕๓   ด้านงานวิชาการ มีผลงานร่วมกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวศาสตร์ที่น่าสนใจ หลายเรื่อง  อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มการทำฐานเรียนรู้การลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นสถานที่อบรมและศึกษาดูงานให้แก่ หน่วยงานต่างๆ เกษตรกร นักเรียนและนักศึกษาตลอดจนผู้ที่สนใจทั่วไป และได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ท่านยังได้เรียบเรียงและจัดทำเอกสารวิชาการเพื่อเผยแพร่ให้แก่สาธารณชน เช่น  เอกสารทางวิชาการ เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประกอบการเลี้ยงสุกรของตนเองให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพ  คู่มือการผลิตและการจัดการสุกร   คู่มือการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) นอกจากนี้ได้สร้างศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) ในพื้นที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา ในเขตจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดลำพูน เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ และเป็นตัวอย่างให้แก่เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป อีกทั้งได้ส่งเสริมการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) และสร้างฟาร์มต้นแบบที่จังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกษตรกรจำนวนมากสามารถทำเป็นอาชีพเสริม สร้างรายได้ให้แก่ครอบครัวได้เป็นอย่างดี  จากการปฏิบัติงานด้วยความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องทำให้ นายสุกิจ ติดชัย ได้ถวายรายงานการเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสที่ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรและทรงงานในโครงการพัฒนาที่ดินมูลนิธิชัยพัฒนา บ้านบึงแวง ตำบลศรีภิรมย์ อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และได้รับเหรียญพระพุทธนิโรคันตรายชัยวัฒน์จตุรทิศ จากมูลนิธิชัยพัฒนา

ในฐานะศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ท่านเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น ๔๘ ขึ้นเมื่อปี ๒๕๓๗ และได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่น ๔๘ มายาวนานกว่า ๒๐ ปี และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ในตำแหน่งต่าง ๆ อาทิ กรรมการฝ่ายบริการและสวัสดิการ ตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการ ตำแหน่งเลขานุการ และที่ปรึกษาสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ เป็นต้น

นายสุกิจ ติดชัย เป็นข้าราชการซึ่งประพฤติปฏิบัติตนตามแบบแผนแห่งทางราชการ ใฝ่ศึกษาหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอันจะนำมาซึ่งประโยชน์ของหน่วยงานและประชาชนทั่วไป อุทิศตนเพื่อประโยชน์แก่สถาบันการศึกษาอย่างอเนกอนันต์ตลอดมา และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะ ซื่อสัตย์ สุจริต จนประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม  เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป  นับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

๓.นายพิศาล ตันสิน  ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๔๙   

การศึกษา  ปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้, ปริญญาโท สาขาอุทยานและนันทนาการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ปัจจุบัน   หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์, ประธานที่ปรึกษาสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี คณะเทคโนโลยีการเกษตร

นายพิศาล ตันสิน  มีงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช คือ โครงการศึกษาจัดวางรูปแบบงานเกษตรอินทรีย์เชิงท่องเที่ยว ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ และเป็นผู้ริเริ่มการจัดสวนแนวใหม่ คือ “จัดสวนให้ศพ” โดยมีแนวคิดเพื่อลดขยะมูลฝอย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในวัดต่าง ๆ พร้อมกับลดภาวะโลกร้อน ท่านมีความเชี่ยวชาญทางด้านการออกแบบภูมิทัศน์และการจัดสวน ทำให้ได้รับเชิญเป็นที่ปรึกษาโครงการต่างๆ อาทิ  ที่ปรึกษาโครงการสวนสมุนไพรเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปี ๒๕๕๙ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดนครนายก, ที่ปรึกษาหลักสูตรสาขาวิชาเทคโนโลยีภูมิทัศน์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อีกทั้ง ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในหัวข้อต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง  ท่านมีผลงานอาชีพซึ่งแสดงถึงความสำเร็จอันเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นผู้จัดเตรียมงานถวายเพื่อรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ อาคารเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฒโน) สภากาชาดไทย ระหว่างปี ๒๕๔๙-๒๕๕๑ และจัดภูมิทัศน์บริเวณที่ประทับหน้าห้องเสวยของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศูนย์กลางราชมงคลธัญบุรี ระหว่างปี ๒๕๕๐-๒๕๕๕ จัดสวนถวายให้กับมูลนิธิพึ่ง(ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ในงานเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ๒๕๕๒ ณ ตำหนักวังกุหลาบ  อีกทั้งยังมีผลงานเป็นที่ประจักษณ์ได้รับรางวัลจากการเข้าแข่งขันรายการต่าง ๆ อาทิ รางวัลชนะเลิศอันดับ ๑ จากการแข่งขันประกวดสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ “ฟิวเจอร์พาร์ค สานต่องานพ่อสร้าง” ปี ๒๕๕๐,๒๕๕๑ และ ๒๕๕๕  ท่านได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน เกี่ยวกับการออกแบบภูมิทัศน์และการจัดสวนที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ลงหนังสือหลายฉบับ อาทิ หนังสือบ้านและสวน หนังสือ ROOM หนังสือบ้านในฝัน และหนังสือสวนในบ้าน: สวนหลากสไตล์ นอกจากนี้ ยังได้รับเชิญให้เขียนตำรา เอกสารการสอน สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี ๒๕๕๓

นายพิศาล ตันสิน เป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ และสร้างองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะด้านการออกแบบภูมิทัศน์และการจัดสวน จึงนับว่าเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

๔. ดร.ชาติชาย เกตุพรหม   ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๕๑

การศึกษา  ปริญญาตรี สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตสุกร  สถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้, ปริญญาโท สาขาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ปริญญาเอก สาขาบริหารการศึกษา  มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ปัจจุบัน  ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด

นายชาติชาย  เกตุพรหม  เริ่มรับราชการตั้งแต่ ปี ๒๕๒๕ ในตำแหน่งครู ๒ ระดับ ๒ ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมสุโขทัย และมีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานตามลำดับ  อีกทั้งท่านยังมีผลงานทางวิชาการมากมาย อาทิ รูปแบบการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สังกัดสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานวิจัยอาชีวศึกษา ประจำปี ๒๕๕๔)  ส่วนการเผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชนท่านได้ดำเนินโครงการต่างๆ มากมาย อาทิ โครงการเกษตรอินทรีย์ ชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  นอกจากนี้ ยังได้เป็นประธานโครงการจัดการเรียนการสอนทวิภาคีไทย - อิสราเอล ภายใต้โครงการความร่วมมือกับ AICAT (Arava International Center for Agriculture and Training) ประเทศอิสราเอล เป็นกรรมการดำเนินโครงการความร่วมมือในการฝึกงานของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษา ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมณี และยังได้ร่วมโครงการเจรจาเพื่อจัดการเรียนการสอนทวิภาคีร่วมกับ TAFE (Technical and Further Education) เครือรัฐออสเตรเลีย ณ ประเทศออสเตรเลีย อีกทั้ง ท่านยังได้มีโอกาสถวายงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อาทิ นำเสนอนิทรรศการโครงการเกษตร “ข้าวโพดหวานเงินล้าน”

นายชาติชาย  เกตุพรหม  ได้นำวิชาความรู้ที่ได้รับประสิทธิ์ประสาทจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ไปประกอบอาชีพจนเจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จจนเป็นที่ประจักษ์และได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติในวิชาชีพ อีกทั้งเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจด้วยความคิดริเริ่มจนเกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์เก่าและบุคคลทั่วไป นับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

๕.นางปรียา เหลียวพัฒนพงศ์  ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่นที่ ๕๑

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ปัจจุบัน   ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอซีเอฟ ผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด, เจ้าของสวนเกษตรเชิงพาณิชย์ Pandora hills, ที่ปรึกษา หจก.เฟรช บานาน่า

นางปรียา เหลียวพัฒนพงศ์  ประสบความสำเร็จในผลงานอาชีพอันเป็นแบบอย่างที่ดี หลังจากสำเร็จการศึกษาก็ได้เริ่มทำงานที่บริษัทยูเอฟเอ็ม ฟู้ดเซนเตอร์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-อเมริกา ผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มเบเกอรี่ชั้นนำ โดยได้ดำรงตำแหน่งเป็นพนักงานฝ่ายควบคุมคุณภาพสินค้า ตลอดระยะเวลา ๕ ปีในการทำงาน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งมาโดยตลอด และในปี ๒๕๔๕ จึงเริ่มประกอบธุรกิจส่วนตัว โดยก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด “บานาน่าเวิลด์” ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้นำความรู้ด้านการเกษตรและด้านเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตรที่เรียนมา ใช้ประกอบวิชาชีพได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และนอกจากนั้น ได้นำความรู้จากการเรียนอุตสาหกรรมอาหารจนสามรรถนำโรงงานของตนเองผ่านการรับรอง GMP ระดับดีมาก และได้ GMP ระดับสากล สามารถผลิตและส่งสินค้าออกจำหน่ายได้ทั่วโลก  และยังได้รับรางวัลผู้ประกอบการดีเด่น Excellence Support Awards  และผลงานด้านการพัฒนายอดเยี่ยม จาก Tesco Lotus Thailand จากการคัดเลือกผู้ประกอบการทั้งหมด 250 บริษัท   นอกจากนี้ ท่านยังเป็นผู้เสียสละเพื่อส่วนรวมและช่วยเหลือกิจกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้มาโดยตลอด ได้รับความไว้วางใจให้เป็นประธานรุ่นศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 51 ในปี           2556-2558 ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้กับส่วนรวม  อาทิ จัดกิจกรรมเพื่อหารายได้ไว้เป็นกองทุนสวัสดิการแก่ครอบครัวของชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้ในวาระต่าง ๆ  เป็นประธานจัดงานการแข่งขันกอล์ฟการกุศล เพื่อหารายได้สมทบทุนกิจกรรมที่สำคัญของชมรมศิษย์เก่าแม่โจ้  นำเสนอผลงานและสนับสนุนผลงานของศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่นที่ 51 ให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่นต่าง ๆ และส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของมหาวิทยาลัยและสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้อย่างสม่ำเสมอ

นางปรียา เหลียวพัฒนพงศ์   เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพ จนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป  อีกทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สาธารณชนและมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่อง  จึงนับเป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

 

๖.นายชิน เถียรทิม ศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่น  ๕๒

การศึกษา ปริญญาตรี สาขาพืชสวนประดับ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  

ปัจจุบัน  ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วน โอ.เค.เมล็ดพันธ์, กรรมการผู้จัดการ บริษัทฟูดส์ซีดส์ จำกัด, รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่โจ้ยูไนเต็ด จำกัด

นายชิน เถียรทิม เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาพืชสวนประดับ ท่านได้เขียนผลงานทางวิชาการ คือ งานวิจัยพันธุ์พืช (ผัก) ลูกผสม (F1) สายพันธุ์ต่าง ๆ และงานคัดสายพันธุ์พืชพันธุ์เปิด (Open breed)  และประสบความสำเร็จในผลงานอาชีพ หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อปี ๒๕๓๓ ท่านได้รับคัดเลือกเข้าทำงานในบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด (CPS) ตำแหน่งเจ้าหน้าที่โครงการพิเศษ ศึกษาธุรกิจพืชสวนครบวงจร อาทิ พืชผักต่างๆ ข้าวโพดอ่อนและข้าวโพดหวาน, ปี ๒๕๓๘ เข้าทำงานในบริษัทแปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ดำรงตำแน่งผู้จัดการขายและส่งเสริมภาคเกี่ยวกับพืชไร่จากความเพียรในการทำงานจึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นพนักงานดีเด่นตลอดระยะเวลา ๕ ปี  จากนั้น  ปี  ๒๕๔๓ ได้ก่อตั้ง บริษัท รีลซีดส์ จำกัด ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย โดยเป็นผู้วางระบบการดำเนินธุรกิจทั้งระบบให้แก่บริษัท   และในปี ๒๕๔๖ จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด โอ.เค เมล็ดพันธุ์ ดำเนินธุรกิจสินค้าเกษตรในด้านเมล็ดพันธุ์พืชลูกผสม (F1) จำหน่ายในชื่อสินค้า “ตรามือโอเค” ต่อมาปี ๒๕๕๖ ได้จัดตั้งบริษัท ฟู้ดซีดส์ จำกัด ดำเนินธุรกิจสินค้าเกษตรในด้านเมล็ดพันธุ์พืชพันธุ์เปิด (Open breed) จำหน่ายในชื่อสินค้า “ฟู้ดซีดส์” (Food seeds)

ท่านได้เผยแพร่ผลงานเพื่อประโยชน์แก่สาธารณชน เข้าร่วมกิจกรรมงานวันเกษตรแห่งชาติ ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นประจำทุกปี โดยจัดแสดงสินค้าและแปลงสาธิตทางการเกษตรให้แก่ผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชม อีกทั้งยังให้โอกาสนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ เข้าฝึกงาน อาทิ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครสวรรค์ นักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรแพร่ เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการปฏิบัติงานจริง รวมถึงได้สนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมและชุมชนมาโดยตลอด อาทิ กิจกรรมกีฬาต่อต้านยาเสพติด มอบทุนการศึกษาแก่สถานศึกษา มอบเมล็ดพันธุ์ให้โครงการต่าง ๆ ในชุมชน เป็นต้น  และท่านยังเป็นผู้สนับสนุนทำคุณประโยชน์ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่โจ้นานัปการ ถือเป็นศิษย์เก่าที่บำเพ็ญประโยชน์แก่สังคมเพื่อส่วนรวม เข้าร่วมกิจกรรมสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้มาโดยตลอด จนได้รับตำแหน่งสำคัญ อาทิ  คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ คณะกรรมการไตรภาคีเพื่อพัฒนากิจกรรมเสริมสร้างอัตลักษณ์ความเป็นลูกแม่โจ้ และเมื่อปี ๒๕๕๙ ได้จัดตั้งบริษัท แม่โจ้ ยูไนเต็ด จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการสร้างนักกีฬาฟุตบอลมืออาชีพสู่ตลาด เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัยแม่โจ้และศิษย์เก่าแม่โจ้ ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคม

นายชิน เถียรทิม เป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในงานวิชาชีพจนปรากฏเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์และแบบอย่างที่ดีแก่บุคคลทั่วไป อีกทั้งเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สาธารณชนและส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้อย่างต่อเนื่อง จึงนับว่า เป็นบุคคลผู้มีเกียรติประวัติและคุณสมบัติเหมาะสม สมควรได้รับการสดุดีเกียรติคุณให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ๑๖ ท่าน จะเข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ และโล่ศิษย์เก่าแม่โจ้ดีเด่น  ในวันที่ ๑๘  กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐ ณ  ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก รัชกาลที่ ๙ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ และทางมหาวิทยาลัยจะได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีในวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ตั้งแต่  เวลา ๑๘.๐๐ น.  เป็นต้นไป ณ ห้องประชุม  ๑๐๑  อาคารศูนย์การศึกษาและฝึกอบรมนานาชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  

 

ปรับปรุงข้อมูล : 17/2/2560 9:42:26     ที่มา : ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้     จำนวนผู้เปิดอ่าน : 997

กลุ่มข่าวสาร : ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวล่าสุด

เฮลั่น !! ม.แม่โจ้ คว้าแชมป์ งานกีฬาประเพณี4จอบแห่งชาติ ครั้งที่ 39 ครองถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำทีมนักกีฬาทักษะเกษตร จาก 3 คณะได้แก่ คณะผลิตกรรมการเกษตร คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี และ คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาทักษะเกษตร และกีฬาสากล ในงานประเพณี 4 จอบแห่งชาติ ครั้งที่ 39 “เกษตรแดนศิลป์ ถิ่นเมืองพริบพรี” ซึ่งมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านการเกษตรจากทั่วประเทศ เข้าร่วมชิงชัย 12 สถาบัน ระหว่างวันที่ 18 - 21 พฤศจิกายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยศิลปกร วิทยาเขต สารสนเทศเพชรบุรี ผลการแข่งขัน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ ครองถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดย สามารถกวาดมาได้ 15 เหรียญทอง 4 เหรียญเงิน และ 1 เหรียญเงินกีฬาสาธิต รวม 20 เหรียญ จาก 21 ทักษะ ดังนี้1. การจัดสวนถาด = ทอง 2. การเชตแมลง = ทอง 3. การผลิตแผ่นประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการเกษตร = ทอง 4. การตอนสุกร = ทอง 5. การรีดเต้านมเทียม = ทอง 6. บรรจุพันธ์ปลา = ทอง 7. การประกวดโมเดลธุกิจนวัตกรรมการเกษตร = เงิน 8. การขยายพันธุ์พืช ติดตา-ต่อกิ่ง-ทาบกิ่ง = ทอง 9. การตรวจวัดสมบัติดินภาคสนาม และการใช้ข้อมูลดินเพื่อการจัดการดินแบบแม่นยำ = ทอง 10. การพูดส่งเสริมการเกษตร = ทอง 11. การตัดแต่งซากสัตว์ปีก = ทอง 12. การวินิจฉัยโรคพืช = เงิน 13. โครงงานทางการเกษตร = ทอง 14. การคำนวณอัตราการใช้ และพ่นสารกำจัดวัชพืช = ทอง 15. การทอดแห = ทอง 16. การตัดขวางชิ้นเนื้อเยื่อโรคพืช = เงิน (กีฬาสาธิต) 17. การกรอกวัสดุปลูกใส่ถุง = ทอง 18. การเข้าด้ามจอบเตรียมแปลง = ทอง 19. การวิเคราะห์อาหารสัตว์ = เงิน 20. การตอบปัญหาทางการเกษตร = เงินนอกจากนี้ นางสาวแสงเทียน ได้ตั้งใจนึก นักศึกษาคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้รับรางวัล "คนดีศรีเกษตร" ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้กับนักศึกษาที่มีผลงานดีเด่นอย่างต่อเนื่อง หลากหลายและเป็นประจักษ์ในวงกว้าง ยกย่องผู้ที่มีความประพฤติดีเด่น และเป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักศึกษาในด้านการศึกษา คุณธรรม และความเสียสละ อีกด้วยทั้งนี้ งานประเพณี 4 จอบจัดขึ้นเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านการเกษตร 4 ภูมิภาค คือ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และทักษะทางวิชาการสาขาเกษตรศาสตร์ อันจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรของประเทศไทยในอนาคต โดยกำหนดให้มีการจัดงานขึ้นทุกปีอนึ่ง เมื่อครั้งที่มีการจัดงานประเพณี 4 จอบ ครั้งที่ 21 เมื่อปี 2546 ที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นเจ้าภาพจัดงานได้รับพระกรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) พระราชทานถ้วยรางวัลคะแนนรวมในการแข่งขันกีฬาทักษะทางการเกษตร ถือเป็นกรุณาธิคุณแก่ผู้เข้าร่วมการแข่งขันทุกสถาบันเป็นล้นพ้น การแข่งขันในปีถัดจากนั้นมา สถาบันที่ได้รับรางวัลคะแนนรวมการแข่งขันกีฬาทักษะเกษตร จึงได้ครองถ้วยพระราชทานสืบต่อกันมา ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
22 พฤศจิกายน 2567     |      112
“ในน้ำมีปลา ในนามีปู” ม.แม่โจ้ คว้ารางวัลชนะเลิศ Best of the Best ระดับประเทศ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567
“บ้านปูนา อ่องปูนา" ผลงานของ ทีม “ในน้ำมีปลา ในนามีปู” คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้ารางวัล ชนะเลิศ ประเภท “กินดี” Best of the Best ระดับประเทศ ในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารออมสินที่เปิดเวทีในนักศึกษาได้เรียนรู้ บูรณาการพัฒนาร่วมกับชุมชน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืน โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั่วประเทศกว่า 67 สถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ได้เข้ารับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี ทีม “ในน้ำมีปลา ในนามีปู” เป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ได้แก่ นางสาวไอยเรศ เสาร์คำ , นายสรวิชญ์ จันทร์แดง , นางสาวไอซามี พงษ์จิระสกุลชัย , นางสาวเกวลิน กรแก้ว นางสาวภัสสิรา สิงห์อูป โดยมี อาจารย์ ดร.นงพงา แสงเจริญ , ผศ.ดร.ดารชาต์ เทียมเมือง และอาจารย์ ดร.วาธิณี อินทรพงษ์นุวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา “บ้านปูนา อ่องปูนา" เป็นการทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูนาสันทราย ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยนำความรู้มาศึกษาปัญหาเดิมของกลุ่มฯ ปรับปรุงพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ “อ่องปูนา แท้ 100 % สดใหม่ ส่งตรงจากฟาร์ม” ตามความต้องการของกลุ่มฯ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์อ่องปูนาให้มีอายุการเก็บนาน 1 ปี ในอุณหภูมิห้อง ทำให้อ่องปูนาซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือเป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถแข่งกับสินค้าอื่นๆ ได้ เพิ่มมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่สนใจ สะดวกต่อการรับประทาน และสามารถจัดจำหน่ายใน modern trade ได้ เป็นการส่งเสริมผลักดันให้มีคนในพื้นที่ได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ลดปัญหาแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลวง และผลสุดท้ายคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้าน ผศ. ดร.อรพินธุ์ สฤษดิ์นำ ผู้รับผิดชอบโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “จากการเข้าร่วมโครงการฯ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เห็นได้ว่า นักศึกษาเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศต่อเนื่อง 3 ปี ซ้อน คือปี 2565 ทีม เด็กโจ้อาสา พัฒนาธุรกิจชุมชน “น้ำพริกหมูฝอย” ประเภทกินดี คณะเศรษฐศาสตร์ปี 2566 ทีม ไพรรภัจน์ “สมุนไพรเพื่อสุขภาพ” ประเภทใช้ดี คณะผลิตกรรมการเกษตรปี 2567 ทีม ในน้ำมีปลา ในนามีปู “บ้านปูนา อ่องปูนา" ประเภท กินดี คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำถือเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ตามบริบทของแต่ละคณะ ที่มุ่งหวังจะพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน กลุ่มอาชีพในชุมชน ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืน” ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
11 พฤศจิกายน 2567     |      256
ขอเชิญร่วมระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีคนแรก คนต้นแบบลูกแม่โจ้
งานหนัก ไม่เคยฆ่าคนใครที่ตายเพราะทำงานหนัก ครูจะสร้างอนุสาวรีย์ ไว้ให้แม่โจ้"อมตะโอวาทศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีคนแรก คนต้นแบบลูกแม่โจ้  ชาวแม่โจ้ ร่วม“ระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย” วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567ณ ลานอนุสาวรีย์ฯ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 1 อธิการบดีคนแรกของแม่โจ้ เป็นชาวจังหวัดแพร่ เกิดเมื่อวันที่ 12  มีนาคม 2459  หลังจากสอบไล่ได้มัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่และย้ายมาเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เมื่อปี 2477  ซึ่งถือเป็นรุ่น 1 รุ่นบุกเบิกและสร้างแม่โจ้เมื่อจบจากแม่โจ้ท่านสอบชิงทุนหลวงไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์จนจบปริญญาตรี ปี พ.ศ. 2484  จึงกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่แม่โจ้ ตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครองนาน 6 ปี จากนั้นท่านไปลงสมัครผู้แทนราษฎร 2 ครั้ง  พอถึงปี พ.ศ. 2497 ท่านกลับเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ใหญ่ชั้นเอกของโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ จวบจนกระทั่งได้เป็นอธิการบดีคนแรกของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ถึง 2 สมัยศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ท่านเป็นนักประชาธิปไตยตัวอย่าง เป็นผู้มีเมตตาธรรม เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนางานใหม่ๆเสมอ เป็นนักพัฒนาชนบท เป็นนักปกครองที่ดีเยี่ยม เป็นครู”ที่ประเสริฐ จากการทำงานหนักและผ่านประสบการณ์ต่างๆ ทำให้ชีวิตท่านแข็งแกร่ง ทรหดอดทน ไม่ท้อถอยและยอมแพ้ต่อปัญหา การดำเนินชีวิตที่ผ่านอุปสรรคมาได้ทำให้เกิดปรัชญาความจริงของชีวิต  ท่านได้ตระหนักถึงการเรียนและฝึกอบรมนักเรียนเกษตรต้องให้มีความอดทน ไม่ท้อถอย จึงจะสู้งานได้ทุกอย่างเป็นการหล่อหลอมนิสัยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเผชิญกับอุปสรรคและสามารถแก้ปัญหาลุล่วงได้ต่อไปจึงนับเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาแม่โจ้สู่มิติใหม่ นักเรียนต้องมีความพร้อมและต้องการเรียนเกษตรจริง ๆ ซึ่งท่านได้กล่าวแสดงความยินดีต่อนักศึกษาที่ผ่านการทดสอบว่าการเรียนเกษตรที่แม่โจ้นี้ ต้องฝึกความทรหดสู้งานทุกอย่างได้ ไม่ท้อถอย เพื่อจะได้เป็นลูกแม่โจ้ที่อดทน เข้มแข็ง ไม่กลัวงานหนัก งานหนักไม่เคยฆ่าคน ใครตายเพราะงานหนัก ครูจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ที่แม่โจ้” ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต  บุญศรีวังซ้ายได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่  30 ตุลาคม 2527  บรรดาศิษย์เก่าแม่โจ้ สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้กำหนดวันที่ 30 ตุลาคม ให้เป็น “วันวิภาต บุญศรี วังซ้าย” เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างและพัฒนาแม่โจ้ให้เจริญ เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการอาชีวเกษตรของประเทศไทย ผู้เป็นต้นแบบนักต่อสู้เอาชนะอุปสรรค และปลดแอกข้อจำกัดของวงการอาชีวเกษตรในอดีต เป็นคนต้นแบบลูกแม่โจ้ ตามปรัชญางานหนักไม่เคยฆ่าคน”อันเป็นคติพจน์ประจำใจของ ลูกแม่โจ้จวบจนปัจจุบันขอเรียนเชิญคณาจารย์  นักศึกษา บุคลากร และศิษย์แม่โจ้ทุกรุ่นร่วมงานระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย”ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567ตั้งแต่เวลา 07.30 น. เป็นต้นไป  ณ  ลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้ายหน้าสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมายเหตุ : การแต่งกายชุดพื้นเมือง หรือชุดสุภาพ
28 ตุลาคม 2567     |      154
คณะกรรมการส่งเสริมมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย มุ่งสู่ Net Zero 2065
มหาวิทยาลัยแม่โจ้  และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครั้งที่ 9 “บทบาทคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัย มุ่งสู่ Net Zero 2065” ระหว่างวันที่ 1 – 3 พฤศจิกายน  2567  ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโรงแรมแชงกรี-ลา  จ.เชียงใหม่ การประชุมสัมมนาฯ ในครั้งนี้ เพื่อเป็นการร่วมระดมความคิดของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยจาก 148 แห่ง ทั่วประเทศ ร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทย สู่ Net Zero ผสานกลยุทธ์การวิจัย การเรียนการสอนและบริหารจัดการวิชาการเข้ากับแนวคิด Green University  รวมถึงการปรับตัวสานกลยุทธ์ธุรกิจ สู่ Net  Zero เพื่อรับมือกับข้อกำหนดทางการค้าและเงื่อนไขตลาดทุนโลก ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงาน พร้อมทั้ง มอบนโยบายที่เกี่ยวข้องในการร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อมุ่งสู่ Net Zero ได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิร่วมบรรยายพิเศษ และร่วมเวทีเสวนา ในประเด็นที่น่าสนใจ  ได้แก่ -  เรื่อง“มหาวิทยาลัยแม่โจ้กับการขับเคลื่อนประเทศไทย สู่ Net Zero” , ผสานกลยุทธ์การวิจัย การเรียนการสอนและบริหารจัดการวิชาการเข้ากับแนวคิด Green University การอยู่ร่วมกับธรรมชาติ โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพล  ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้   - เรื่อง “Climate Change วิกฤตของโลก และทางออกของเรา” ความรู้และงานวิจัยเกี่ยวกับวิกฤติโลกร้อน ความร่วมมือระหว่างประเทศ และนวัตกรรมที่จะนำพาโลกสู่สภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และแนวทางที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการมุ่งสู่ Net Zero โดย รองศาสตราจารย์ ดร.เศรษฐ์ สัมภัตตะกุล รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ (UNISERV) และหัวหน้าหน่วยวิจัยเพื่อการจัดการพลังงานและเศรษฐนิเวศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - เรื่อง “ทศวรรษแห่งการปรับตัว สานกลยุทธ์ธุรกิจสู่ Net Zero” กลยุทธ์ธุรกิจยุคใหม่เพื่อรับมือกับข้อกำหนดทางการค้า และเงื่อนไขตลาดทุนโลกและมุมมองเกี่ยวกับการพัฒนากลยุทธ์ธุรกิจในทศวรรษที่ผ่านมาและในอนาคต โดย นายธีรพงศ์  จันศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)การเสวนา เรื่อง “บทบาทของคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยกับการพัฒนามหาวิทยาลัย” โดยผู้แทนคณะกรรมการส่งเสริมจากทุกกลุ่มสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมการประชุมสัมมนานอกจากนั้น  จะมีการเยี่ยมชมศึกษาดูงานโครงการต่างๆ ของมหาวิทยาลัย  ฟาร์มมหาวิทยาลัย โรงเรือนไส้เดือนดินกำจัดขยะอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย การผลิตปุ๋ยอินทรีย์  การผลิตกัญชาอินทรีย์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์  ศูนย์การเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และเกษตรอัจฉริยะ Smart Fishery พร้อมทั้งเยี่ยมชมศึกษาดูงาน  บริษัท ซันสวีท จำกัด (มหาชน)  บริษัท ปลูกผักเพระรักแม่โ จำกัด (มหาชน) (โอ้กะจู๋) และ บริษัท กรีนไดมอนด์ จำกัด (บุญสมฟาร์มสาหร่ายเกลียวทอง)  ซึ่งเป็นภาคีภาคธุรกิจที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้  รวมถึงการศึกษาดูงานด้านศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ล้านนา และด้านหัตถกรรมและเศรษฐกิจท้องถิ่น  ดร.วรพงศ์ นันทาภิวัฒน์ ประธานกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “ขอเชิญชวนคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทุกท่านเข้าร่วมการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ เพราะคณะกรรมการส่งเสริมฯ คือผู้เกี่ยวข้องในวงการธุรกิจและการศึกษา เราจะได้มีส่วนร่วมในการหารือและหาข้อแนะนำในการที่จะทำให้ประเทศเราบรรลุการเป็น Net Zero ในปี 2065 ได้”  การประชุมสัมมนาคณะกรรมการส่งเสริมกิจการมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ครั้งที่ 9 นอกจากเผยแพร่ภาพลักษณ์และสร้างชื่อเสียงที่ดีให้แก่มหาวิทยาลัย และจังหวัดเชียงใหม่ แล้ว ยังเป็นกิจกรรมการสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมเครือข่ายของมหาวิทยาลัยทุกภาคส่วนให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจและชุมชนในทุกมิติต่อไป
21 ตุลาคม 2567     |      195