วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จัดการประชุมวิชาการเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 13 (13th Conference on Energy Network of Thailand) ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 ณ โรงแรมดิเอ็มเพรส เชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐวุฒิ ดุษฎี ผู้อำนวยการวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “เครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย (E-NETT) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนทางด้านพลังงาน จำนวน กว่า 15 สถาบัน ซึ่งได้กำหนดจัดให้มีการประชุมวิชาการมาเป็นประจำทุกปี นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา และในปี 2560 นี้ ทางวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัย แม่โจ้ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับเกียรติจากเครือข่ายพลังงานแห่งประเทศไทย ให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมในครั้งนี้ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เครือข่ายพลังงานในประเทศไทย ได้นำผลงานทางวิชาการองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านพลังงานมาแลกเปลี่ยน ถ่ายทอด และเผยแพร่ให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนางานวิชาการเชิงบูรณาการและความร่วมมืออันดีทางด้านวิชาการต่อไปในอนาคต ในขณะเดียวกันการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในครั้งนี้ ยังเป็นการเสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียนให้นักศึกษา ได้เรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอนการเตรียมการจัดประชุมวิชาการระดับชาติ การนำเสนอผลงานและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี อันจะเป็นช่องทางการพัฒนานักศึกษาให้พร้อมก้าวไปสู่โลกของการทำงานอย่างมีศักยภาพอีกด้วย”
การจัดประชุมในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2560 มีทั้งส่วนกิจกรรมบรรยายพิเศษทางวิชาการ การอภิปราย และการนำเสนอผลงานของนักวิชาการ นักวิจัย และผู้สนใจ จากทั้ง 15 สถาบัน จำนวนกว่า 200 คน ซึ่งจะมีพิธีเปิดการประชุมในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 โดยได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งบรรยายพิเศษด้าน นโยบาย สถานการณ์ การสนับสนุนของภาครัฐ ด้านพลังงานของประเทศไทย โอกาสนี้ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวรายงานการจัดงาน
นอกจากนั้น ยังมีการบรรยายพิเศษในหัวข้อที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง อาทิ “แนวทางของการจัดทำ มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพพลังงานและพลังงานทดแทน”, “สถานการณ์อุตสาหกรรมเกษตรและพลังงานในตลาดโลก”, “Smart and Smart City Technology”
ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 จะมีการเสวนา “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ด้านการวิจัยด้านพลังงานของประเทศไทย” รวมถึงการนำเสนอบทความวิจัยต่างๆ และในวันที่ 2 มิถุนยน 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดการประชุม หลังจากเสร็จการนำเสนอผลงานแล้ว จะมีพิธีมอบรางวัลบทความดีเด่นของแต่ละสาขา พร้อมทั้งพิธีปิดการประชุมอย่างเป็นทางการ
ซึ่งคาดว่าผลจากการจัดประชุมวิชาการในครั้งนี้ จะมีผลงานวิชาการที่มีคุณภาพไม่ต่ำกว่า 100 เรื่อง ที่จะถูกรวบรวมไว้เป็นแหล่งความรู้เพื่อการสืบค้นและนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป