มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำการเกษตรยุคใหม่ รุ่นที่2 (The 2nd Modern Agricultural Leadership Program) สร้างผู้นำสีเขียว ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย GO Eco U ต่อไปในอนาคต “สร้างเครือข่าย เข้าใจอนาคต กำหนดทิศทางการเกษตรที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” เชิญผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศหลากหลายสาขาวิชา ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ โดยกำหนดพิธีเปิดโครงการ ในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤษภาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ จ. เชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำเนียร ยศราช อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “กรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ไว้ 6 ด้าน ซึ่ง 1 ในนั้นคือยุทธศาสตร์ การพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งมุ่งการเสริมสร้างฐานการผลิตภาคเกษตรให้เข้มแข็งและยั่งยืน รวมทั้ง การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตร โดยอาศัยองค์ความรู้ทางวิชาการเกษตร เทคโนโลยี และนวัตกรรม (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2558)
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในบริบทความเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นความเลิศทางด้านการเกษตรในระดับนานาชาติ ต้องวางแนวทางการปรับองค์กรรับการเปลี่ยนจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ สอดคล้องไปกับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และทิศทางยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ 15 ปี ตลอดจนเตรียมความพร้อมต่อการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ดังนั้น หลักสูตร “ผู้นำการเกษตรยุคใหม่ รุ่น 2” จะเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการพัฒนาวิสัยทัศน์ผู้นำ รวมถึง การวางแนวทางการพัฒนา ทิศทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา (Public-Private Partnership; PPP หรือ Triple Helix) และสร้างผู้นำองค์กรในรุ่นต่อไปเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาตามยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย GO Eco U และยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ปีที่ 100(จากปี 2477- 2577) อย่างต่อเนื่อง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้บริหาร บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ ของมหาวิทยาลัย และจากส่วนราชการในจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมถึงจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และศิษย์เก่า รวมจำนวน 70 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้บริหารภาครัฐ เอกชน และนักวิชาการ (PPP) ด้านการเกษตร สร้างความเข้าใจและกำหนดทิศทางการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืนในอนาคต”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทองเลียน บัวจูม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “หลักสูตรการอบรมมีโครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย 4 Modules ได้แก่ Module 1 Green Future ที่มองถึงสถานการณ์ของโลก ความร่วมมือทั้งระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งเป็นการวิเคราะห์และมองไปยังอนาคตข้างหน้า, Module 2 Green Value จะเป็นการขับเคลื่อนการทำงาน สร้างนวัตกรรม และการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงคุณค่าในการสร้างความสมดุล เพื่อให้เกิดการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน, Module 3 Green Business การดำเนินกิจกรรมหรือธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมที่ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถแข่งขันได้ และ Module 4 Green Operations เป็นการสร้างองค์กรให้เป็นสำนักงานสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดให้มีรูปแบบการอบรมทั้งการเดินทางไปศึกษาดูงาน การบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิ และการแบ่งกลุ่มปฏิบัติการ
โครงการนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยายเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ อาทิ ดร. เอกอนงค์ จางบัว ผู้ช่วยเลขาธิการ และผู้อำนวยการ ด้านเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม สวทน., ศาสตราจารย์ ดร. กนก วงษ์ตระหง่าน, คุณนที แสง CEO ของ Makerspace Thailand, คุณสัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิรัษ์ดินรักษ์น้ำ, คุณณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหารกลุ่มบริษัท ตนานุวัฒน์ จำกัด, ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานบริหาร บริษัท ซันสวีท จำกัด(มหาชน), นายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้งจำกัด และยังมีผู้ทรงคุณวุฒิร่วมด้วยอีกหลายท่าน”
สำหรับการอบรมจะจัดขึ้นในทุกวันพฤหัส และ วันศุกร์ ระหว่างวันที่ 17 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2561 โดยจะมีพิธีเปิดการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสดบีที่ 24 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่