มหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จัดพิธีมอบใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล IFOAM แก่เกษตรกร ในโครงการ "การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์จังหวัดชุมพร" ประจำปีงบประมาณ 2561
อาจารย์ ดร.สุทธิรักษ์ ผลเจริญ ผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า “มาตรฐาน IFOAM เป็นระบบที่พัฒนาขึ้นโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements) เพื่อให้บริการรับรองระบบงานแก่หน่วยตรวจรับรองเกษตรอินทรีย์ต่างๆ ทั่วโลก ซึ่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร ได้เป็นหน่วยงานดำเนินการขอรับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล (IFOAM ) ให้กับเกษตรกรในโครงการ "การพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์จังหวัดชุมพร" ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 8 อำเภอในจังหวัดชุมพร
จากการดำเนินโครงการฯ เป็นการดำเนินการแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงาน คือมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดชุมพร ทั้ง 8 อำเภอ ซึ่งถือเป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอินทรีย์ในภาคใต้ และที่สำคัญคือจังหวัดชุมพร ในเรื่องของยุทธศาสตร์การแข่งขันสินค้าเกษตร เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์รายสาขาที่สำคัญของชาติ ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนจากระบบการเกษตรดั้งเดิมไปสู่เกษตรแผนใหม่ที่มีการดำเนินการครบวงจร ตั้งแต่การผลิตระดับไร่นาไปถึงมือผู้บริโภค (From Farm to Table) รวมทั้งเน้นคุณภาพ และความปลอดภัยของสินค้า โดยมุ่งเน้นที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นผู้นำด้านการเกษตร ในการผลิตอาหารป้อนสู่ตลาดโลก”
ดร.บุญศิลป์ จิตตะประพันธ์ คณบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า “บทบาทของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้าน "อาหารปลอดภัย" โดยการให้บริการด้านองค์ความรู้วิชาการต่อเกษตรกร และประชาชนที่สนใจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าเกษตร พัฒนาศักยภาพกระบวนการผลิตและคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร รวมถึงให้บริการตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำไปยังปลายน้ำ เพื่อขอรับการรับรองจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง
การดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรและอาหารสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์จังหวัดชุมพร ปีงบประมาณ 2561 ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร จึงเป็นการช่วยพัฒนายกระดับการผลิตและการแปรรูปสินค้าเกษตรของกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ โดยมีความเชื่อมโยงเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการตลอดห่วงโซ่อาหาร และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนแก่กลุ่มเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตสินค้าอินทรีย์ป้อนเข้าสู่ตลาดผู้บริโภคของจังหวัดชุมพร รวมทั้งมีการควบคุมและเฝ้าระวัง เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการป้องกันที่กำหนดขึ้นนั้นมีประสิทธิภาพตลอดเวลา ทำให้ผู้บริโภค มั่นใจได้ว่าอาหารนั้นมีความปลอดภัยทั้งสภาวะแวดล้อมการผลิตที่ดีและคุณภาพความปลอดภัยสูง”
สำหรับเกษตรกรในจังหวัดชุมพรที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 8 อำเภอ มีผู้ที่ผ่านการรับรองจำนวน 5 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็น 5 หน่วยงานแรกของจังหวัดชุมพร ได้แก่
- นางวลัยพร ฉิมมณี อำเภอละแม
- นายพูนศักดิ์ เนียมมาลัย อำเภอปะทิว
- นายประจักษ์ จันทร์น้อย อำเภอสวี
- นายปฐมพงศ์ ภาจน์กาญจนพัชร อำเภอละแม
- แปลงฟาร์มมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร อำเภอละแม
(ผู้รับผิดชอบแปลง อ.ดร.มัลลิกา จินดาซิงห์)
ซึ่งได้มีการจัดพิธีมอบใบรับรองให้กับเกษตรทั้ง 5 ราย โดยได้รับเกียรติจากนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร เป็นประธานในพิธีมอบใบรับรอง และลงพื้นที่สำรวจแปลงสาธิตเกษตรอินทรีย์ รวมถึงผู้หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำชุมชน แขกผู้เกียรติ และเกษตรกรเข้าร่วมพิธี ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ – ชุมพร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา