วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 (14th Thailand Renewable Energy for Community Conference ) เปิดเวทีแสดงผลงานด้านพลังงานทดแทนในประเทศไทยให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน ในรูปแบบ Online และ Onsite ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุม (ระบบออนไลน์) พร้อมด้วย นายชัชวาล ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และ นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป ณ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จ.เชียงใหม่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมสัมมนาวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนสู่ชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 14 เพื่อร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนงานวิชาการพลังงานทดแทนให้เกิดประโยชน์กับภาคชุมชนและประชาชน อีกทั้งยังสอดคล้องกับ มิติที่ 2 การขับเคลื่อนผลการดำเนินงานตามพันธกิจหลัก (MOC) ด้านการวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เป็นการเปิดโอกาสให้เครือข่ายพลังงานทดแทนในประเทศไทย นำผลงานทางวิชาการ องค์ความรู้ใหม่ด้านพลังงาน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถ่ายทอด และเผยแพร่ให้สังคมได้เรียนรู้ร่วมกัน การสร้างเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนางานเชิงบูรณาการและความร่วมมือทางด้านวิชาการในอนาคต นอกจากนี้การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมยังเป็นการสร้างเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียนให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอนการจัดกิจกรรมทั้งระบบ เรียนรู้การเป็นเจ้าบ้านที่ดี อันจะเป็นช่องทางการพัฒนานักศึกษาให้พร้อมก้าวไปสู่โลกของการทำงานอย่างมีศักยภาพอีกด้วย”
กิจกรรมมีทั้งการจัดบรรยายพิเศษ การเสวนา โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ การบรรยายพิเศษ “Energy Disruption and Thailand Energy Community in The Future”, “การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้สู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืนเพื่อชุมชน”, “โรงเรือนอัจฉริยะกับสมุนไพรทางเลือกสำหรับพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากชุมชน” การเสวนาพิเศษ “วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกต่อวิถีชีวิตของสังคมเกษตรกรไทย”, “บทบาทหน้าที่ ของสมาคมฯ ต่อการขับเคลื่อนด้านพลังงานชุมชน” และการประชุมวิชาการ โดยแยกนำเสนอเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มนวัตกรรมด้านพลังงาน กลุ่มพลังและการบริหารจัดการเพื่อการเกษตร กลุ่มสิ่งแวดล้อมชุมชน กลุ่มเชื้อเพลิงและความร้อนชุมชน กลุ่มไฟฟ้าชุมชน และกลุ่มการบริหารจัดการพลังงานชุมชนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งมี นักวิชการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจจากหน่วยงานต่างๆจากทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม ทั้งระบบ Online และ Onsite ประมาณ 200 คน
อย่างไรก็ตามคณะทำงานฯ ได้ดำเนินกิจกรรมภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างเคร่งครัด