2 ผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ ในงาน The 16th International Invention and Innovation show (INTARG 2023) ซึ่งจัดโดย Eurobusiness-Haller ณ เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยมีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย นำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงมากกว่า 30 ประเทศ โดยผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่
- รางวัล เหรียญทอง ผลงานวิจัย เรื่อง "เทคโนโลยีเฮอร์เดิลด้วยโอโซนและเคมีเพื่อลดปริมาณไวรัสโคโรน่าปนเปื้อนในทุเรียนส่งออก" โดย รศ. ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
รศ.ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์ กว่าวว่า “เนื่องจากประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ มากกว่า 5 แสนตัน/ปี ซึ่งเป็นผลไม้หลักในการส่งออก แต่ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ประเทศจีนมีนโยบาย Zero-CoVid ดังนั้นหากมีการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อ Covid-19 ที่ทุเรียน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศอาจสูญเสียรายได้ เกษตรกรได้รับผลกระทบ ซึ่งเทคโนโลยีเฮอร์เดิลด้วยโอโซนและเคมี หรือ เทคโนโลยีผสมผสาน โดยการใช้แก๊สโอโซน ร่วมกับสเปรย์โซเดี่ยม ไฮโปครอไรด์ เพื่อลดปริมาณไวรัสโคโรน่าปนเปื้อนในทุเรียนส่งออก เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเฮอร์เดิลระหว่างก๊าซโอโซนและสารเคมี เพื่อลดปริมาณไวรัสโคโรน่าที่ตกค้างปนเปื้อนในผลทุเรียน พบว่าการใช้สเปรย์ NaOCl และตามด้วยการรมก๊าซโอโซนที่ 900 ppm แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง สามารถลดปริมาณไวรัส PEDV ที่ตกค้างให้ต่ำกว่าเกณฑ์วัดขั้นต่ำ cut-off ของชุดทดลองที่ค่า Ct>36=negative ซึ่งถือว่าเป็นการลดปริมาณไวรัสปนเปื้อนได้ 100% ผลทุเรียนที่ทดสอบมีอัตราสุกตามปกติ ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของทุเรียน ผู้บริโภคทุเรียนปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศอีกครั้ง”
- รางวัล เหรียญทองแดง และ รางวัล certificate of appreciation proudly presentation จาก Research Institute of creative education, Vietnam ผลงานวิจัย เรื่อง "ต้นแบบการพัฒนาระบบผลิตน้ำเพื่อการเกษตรจากอากาศโดยใช้ความเย็นพื้นดินร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์" โดย ผศ.ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน และ ผศ. ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ รองคณบดี วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ผศ.ดร.นิกราน หอมดวง ให้ข้อมูลว่า “ต้นแบบระบบผลิตน้ำจากอากาศเป็นนวัตกรรมเพื่อสกัดน้ำในชั้นบรรยากาศ ช่วยปัญหาด้านภัยแล้งของเกษตรกร และส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดในการผลิตน้ำดื่มในพื้นที่โรงเรียนตระเวนชายแดน หรือพื้นที่ชุมชนบนพื้นที่สูง โดยนวัตกรรมดังกล่าวสามารถสกัดน้ำในชั้นบรรยากาศได้ในอัตรา 100-200 ลิตรต่อวัน และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักให้กับระบบนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง”
ด้าน ผศ. ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ผลสำเร็จของโครงการได้มีการติตดั้งระบบทดสอบจริงให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และในปีถัดไปมีเป้าหมายการติดตั้งระบบให้กับโรงเรียนและชุมชนบนพื้นที่สูงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสำหรับการผลิตน้ำดื่มเพื่อการอุปโภคและบริโภค เพื่อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำและน้ำที่ได้จากนวัตกรรมนี้มีผ่านการตรวจค่ามาตรฐานของน้ำดื่ม ก็อยู่ในเกณฑ์ที่บริโภคและอุปโภคได้ ซึ่งงานวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ หรือมีน้ำน้อย ซึ่งพบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย”