ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
MJU Corporate Communication Center
“ในน้ำมีปลา ในนามีปู” ม.แม่โจ้ คว้ารางวัลชนะเลิศ Best of the Best ระดับประเทศ ออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567
“บ้านปูนา อ่องปูนา" ผลงานของ ทีม “ในน้ำมีปลา ในนามีปู” คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้ารางวัล ชนะเลิศ ประเภท “กินดี” Best of the Best ระดับประเทศ ในโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น 2567 ซึ่งจัดขึ้นโดยธนาคารออมสินที่เปิดเวทีในนักศึกษาได้เรียนรู้ บูรณาการพัฒนาร่วมกับชุมชน เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากสู่ความยั่งยืน โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมแข่งขันทั่วประเทศกว่า 67 สถาบันการศึกษา ทั้งนี้ ได้เข้ารับโล่รางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ นนทบุรี ทีม “ในน้ำมีปลา ในนามีปู” เป็นนักศึกษาคณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำ ได้แก่ นางสาวไอยเรศ เสาร์คำ , นายสรวิชญ์ จันทร์แดง , นางสาวไอซามี พงษ์จิระสกุลชัย , นางสาวเกวลิน กรแก้ว นางสาวภัสสิรา สิงห์อูป โดยมี อาจารย์ ดร.นงพงา แสงเจริญ , ผศ.ดร.ดารชาต์ เทียมเมือง และอาจารย์ ดร.วาธิณี อินทรพงษ์นุวัฒน์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา “บ้านปูนา อ่องปูนา" เป็นการทำงานร่วมกับวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้การเพาะเลี้ยงปูนาสันทราย ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โดยนำความรู้มาศึกษาปัญหาเดิมของกลุ่มฯ ปรับปรุงพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์ “อ่องปูนา แท้ 100 % สดใหม่ ส่งตรงจากฟาร์ม” ตามความต้องการของกลุ่มฯ ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์อ่องปูนาให้มีอายุการเก็บนาน 1 ปี ในอุณหภูมิห้อง ทำให้อ่องปูนาซึ่งเป็นอาหารพื้นเมืองอันเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือเป็นที่รู้จักมากขึ้น สามารถแข่งกับสินค้าอื่นๆ ได้ เพิ่มมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้เป็นที่สนใจ สะดวกต่อการรับประทาน และสามารถจัดจำหน่ายใน modern trade ได้ เป็นการส่งเสริมผลักดันให้มีคนในพื้นที่ได้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เกิดการจ้างงานในชุมชน ลดปัญหาแรงงานย้ายถิ่นเข้าสู่เมืองหลวง และผลสุดท้ายคือประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้าน ผศ. ดร.อรพินธุ์ สฤษดิ์นำ ผู้รับผิดชอบโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า “จากการเข้าร่วมโครงการฯ ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เห็นได้ว่า นักศึกษาเราประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศต่อเนื่อง 3 ปี ซ้อน คือปี 2565 ทีม เด็กโจ้อาสา พัฒนาธุรกิจชุมชน “น้ำพริกหมูฝอย” ประเภทกินดี คณะเศรษฐศาสตร์ปี 2566 ทีม ไพรรภัจน์ “สมุนไพรเพื่อสุขภาพ” ประเภทใช้ดี คณะผลิตกรรมการเกษตรปี 2567 ทีม ในน้ำมีปลา ในนามีปู “บ้านปูนา อ่องปูนา" ประเภท กินดี คณะเทคโนโลยีการประมงและทรัพยากรทางน้ำถือเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และทักษะการเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพ ตามบริบทของแต่ละคณะ ที่มุ่งหวังจะพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น และสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผู้ประกอบการ OTOP องค์กรชุมชน กลุ่มอาชีพในชุมชน ให้ก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่มีความเข้มแข็ง เติบโตและยั่งยืน” ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
11 พฤศจิกายน 2567     |      243
ขอเชิญร่วมระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีคนแรก คนต้นแบบลูกแม่โจ้
งานหนัก ไม่เคยฆ่าคนใครที่ตายเพราะทำงานหนัก ครูจะสร้างอนุสาวรีย์ ไว้ให้แม่โจ้"อมตะโอวาทศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย อธิการบดีคนแรก คนต้นแบบลูกแม่โจ้  ชาวแม่โจ้ ร่วม“ระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย” วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567ณ ลานอนุสาวรีย์ฯ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ศิษย์เก่าแม่โจ้ รุ่น 1 อธิการบดีคนแรกของแม่โจ้ เป็นชาวจังหวัดแพร่ เกิดเมื่อวันที่ 12  มีนาคม 2459  หลังจากสอบไล่ได้มัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนพิริยาลัย จ.แพร่ก็ได้เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จ.เชียงใหม่และย้ายมาเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแม่โจ้ เมื่อปี 2477  ซึ่งถือเป็นรุ่น 1 รุ่นบุกเบิกและสร้างแม่โจ้เมื่อจบจากแม่โจ้ท่านสอบชิงทุนหลวงไปศึกษาต่อมหาวิทยาลัยในฟิลิปปินส์จนจบปริญญาตรี ปี พ.ศ. 2484  จึงกลับมารับราชการเป็นอาจารย์ที่แม่โจ้ ตำแหน่งอาจารย์ผู้ปกครองนาน 6 ปี จากนั้นท่านไปลงสมัครผู้แทนราษฎร 2 ครั้ง  พอถึงปี พ.ศ. 2497 ท่านกลับเข้ารับราชการเป็นอาจารย์ใหญ่ชั้นเอกของโรงเรียนเกษตรกรรมแม่โจ้ จวบจนกระทั่งได้เป็นอธิการบดีคนแรกของสถาบันเทคโนโลยีการเกษตรแม่โจ้ถึง 2 สมัยศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ท่านเป็นนักประชาธิปไตยตัวอย่าง เป็นผู้มีเมตตาธรรม เป็นผู้ริเริ่มและพัฒนางานใหม่ๆเสมอ เป็นนักพัฒนาชนบท เป็นนักปกครองที่ดีเยี่ยม เป็นครู”ที่ประเสริฐ จากการทำงานหนักและผ่านประสบการณ์ต่างๆ ทำให้ชีวิตท่านแข็งแกร่ง ทรหดอดทน ไม่ท้อถอยและยอมแพ้ต่อปัญหา การดำเนินชีวิตที่ผ่านอุปสรรคมาได้ทำให้เกิดปรัชญาความจริงของชีวิต  ท่านได้ตระหนักถึงการเรียนและฝึกอบรมนักเรียนเกษตรต้องให้มีความอดทน ไม่ท้อถอย จึงจะสู้งานได้ทุกอย่างเป็นการหล่อหลอมนิสัยให้ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถเผชิญกับอุปสรรคและสามารถแก้ปัญหาลุล่วงได้ต่อไปจึงนับเป็นช่วงสำคัญของการพัฒนาแม่โจ้สู่มิติใหม่ นักเรียนต้องมีความพร้อมและต้องการเรียนเกษตรจริง ๆ ซึ่งท่านได้กล่าวแสดงความยินดีต่อนักศึกษาที่ผ่านการทดสอบว่าการเรียนเกษตรที่แม่โจ้นี้ ต้องฝึกความทรหดสู้งานทุกอย่างได้ ไม่ท้อถอย เพื่อจะได้เป็นลูกแม่โจ้ที่อดทน เข้มแข็ง ไม่กลัวงานหนัก งานหนักไม่เคยฆ่าคน ใครตายเพราะงานหนัก ครูจะสร้างอนุสาวรีย์ไว้ให้ที่แม่โจ้” ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต  บุญศรีวังซ้ายได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่  30 ตุลาคม 2527  บรรดาศิษย์เก่าแม่โจ้ สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จึงได้กำหนดวันที่ 30 ตุลาคม ให้เป็น “วันวิภาต บุญศรี วังซ้าย” เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านได้สร้างและพัฒนาแม่โจ้ให้เจริญ เป็นผู้มีคุณูปการต่อวงการอาชีวเกษตรของประเทศไทย ผู้เป็นต้นแบบนักต่อสู้เอาชนะอุปสรรค และปลดแอกข้อจำกัดของวงการอาชีวเกษตรในอดีต เป็นคนต้นแบบลูกแม่โจ้ ตามปรัชญางานหนักไม่เคยฆ่าคน”อันเป็นคติพจน์ประจำใจของ ลูกแม่โจ้จวบจนปัจจุบันขอเรียนเชิญคณาจารย์  นักศึกษา บุคลากร และศิษย์แม่โจ้ทุกรุ่นร่วมงานระลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย”ในวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567ตั้งแต่เวลา 07.30 น. เป็นต้นไป  ณ  ลานอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้ายหน้าสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หมายเหตุ : การแต่งกายชุดพื้นเมือง หรือชุดสุภาพ
28 ตุลาคม 2567     |      150
ชาวแม่โจ้สันทรายพร้อมอ้าแขนรอรับลูกแม่โจ้ อินทนิลช่อที่ 89 “ประเพณี เดิน – วิ่ง แม่โจ้-สันทราย กิจกรรมสร้างสัมพันธ์ชุมชนน้องใหม่แม่โจ้”
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่าแม่โจ้ และองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดโครงการเสริมสร้างอัตลักษณ์ลูกแม่โจ้ รุ่นที่ 89 กิจกรรม:ประเพณีเดิน-วิ่ง แม่โจ้ – สันทราย ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 เวลา 05.30 น. เป็นต้นไป ณ จุดปล่อยตัวสนามกีฬาอินทนิล มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ประเพณี เดิน – วิ่ง การกุศล แม่โจ้ – สันทราย ได้เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นการสอบรับนักเรียนรุ่น 27 โดยมี ศ.ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรกรรมเชียงใหม่ (มหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน) เพื่อทดสอบสมรรถภาพความอดทน ของผู้ที่สมัครเข้าเรียนแม่โจ้สมัยนั้น แรกเริ่มเดิมที เป็นการทดสอบ วิ่งทน ของนักเรียนที่จะมาเรียนแม่โจ้ โดยวิ่งจากในเมืองมายังแม่โจ้ ถือเป็นคะแนนพิเศษเพิ่มจากการสอบสัมภาษณ์ เพราะผู้ที่จะทำการเกษตรต้องมีร่างกายแข็งแรงและสมบูรณ์ และเป็นการฝึกความอดทน ตามคติพจน์ของ  ศ.ดร.วิภาต บุญศรี วังซ้าย ที่ว่า “งานหนักไม่เคยฆ่าคน” จนทำให้กิจกรรมการ เดิน – วิ่ง การกุศล แม่โจ้ – สันทราย เกิดเป็นประเพณีขึ้นจวบจนปัจจุบันหากแต่ในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์สำคัญอีกประการของกิจกรรมนี้คือ ให้นักศึกษาใหม่เข้าเยี่ยมคารวะนายอำเภอสันทราย หัวหน้าส่วนราชการในอำเภอสันทราย ได้แนะนำตัวกับประชาชนชาวอำเภอสันทราย ซึ่งจะมีประชาชนชาวอำเภอสันทราย ศิษย์เก่าแม่โจ้รุ่นต่างๆ และรุ่นพี่แต่ละคณะ นำอาหาร เครื่องดื่ม ผลไม้ต่าง ๆ มาคอยต้อนรับและให้กำลังใจตลอดเส้นทางประมาณ 10 กิโลเมตร ตั้งแต่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จนถึงที่ว่าการอำเภอสันทราย เป็นบรรยากาศที่อบอุ่น น่ารัก น่าประทับใจในปีการศึกษา 2567 จะมีนักศึกษาใหม่ ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก (เชียงใหม่แพร่ฯชุมพร) เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 6,700 คน ตามกำหนดการต่อไปนี้เวลา 05.30 น.  พิธีเปิดการแข่งขันและปล่อยตัวนักวิ่ง ณ จุดปล่อยตัวสนามกีฬาอินทนิล  โดย ดร.อำนวย ยศสุข นายกสภามหาวิทยาลัย , รศ.ดร.วีระพล  ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เวลา 08.00 น.  กิจกรรมกรรมเดินวิ่ง แม่โจ้ - สันทราย ถึงที่ว่าการอำเภอสันทราย                    -  กล่าวรายงาน และนำนักศึกษาใหม่เข้าพบนายอำเภอ โดย ผศ.ว่าที่ ร้อยตรี ดร.นิโรจน์  สินณรงค์ รก.ผู้ช่วยอธิการบดี                   -  แนะนำหัวหน้าส่วนราชการในอำเภอสันทราย ได้รับเกียรติจาก นายณัชฐเดช มุลาลี นายอำเภอสันทราย  กล่าวต้อนรับ พร้อมให้โอวาทและแนะนำแนวทางการใช้ชีวิตร่วมกันตลอดเส้นทางจะมีประชาชน/ศิษย์เก่าแม่โจ้ นำอาหารเครื่องดื่มมาบริการ เป็นระยะ เพื่อคอยต้อนรับและให้กำลังใจ)ขอเชิญชาวอำเภอสันทราย พี่น้องชาวแม่โจ้ ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน ร่วมอ้าแขนต้อนรับน้องใหม่แม่โจ้ อินทนิลช่อที่ 89 เข้าสู่พื้นที่อำเภอสันทรายอย่างอบอุ่น สร้างสัมพันธ์ชุมชน ให้กำลังใจนักวิ่งแบบเต็มอิ่ม ตลอดเส้นทางในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้  อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ภาพประกอบจากแฟ้มข่าวสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 0 5387 3090โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางสัญจรในช่วงวัน และเวลาดังกล่าว ด้วยความขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้
14 มิถุนายน 2567     |      1310
เด็กวิศวะฯ การยางฯ ม.แม่โจ้ คว้า 2 เหรียญทอง I-New Gen Award 2024 สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเกษตร สร้างรายได้ ลดใช้พลังงาน รักษ์โลก
 นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้า 2 รางวัลเหรียญทอง จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม “Thailand New Gen Inventors Award 2024” (I-New Gen Award 2024) จัดขึ้นโดย สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา  ซึ่งมีการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์จากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยม อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ในปีนี้คัดเลือกผลงานจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากทั่วประเทศกว่า 1,000 ผลงาน จาก 330 สถาบันทั่วประเทศ  และมหาวิทยาลัยแม่โจ้สามารถคว้ามาได้ถึง  2 เหรียญทอง ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่รางวัลเหรียญทอง กลุ่มเกษตร จากการคิดค้นนวัตกรรม “พอรัส มัลซ์ (ผ้ายางคลุมดินอัจฉริยะ)” โดย นางสาวรัชนี จิระพาณิชย์ และ นางสาวศศินิภา บุญมา  นักศึกษาชั้นปีที่ 1“พอรัส มัลซ์ (ผ้ายางคลุมดินอัจฉริยะ)” เป็นนวัตกรรมผ้ายางคลุมดินที่ช่วยระบายอากาศและน้ำได้ดี ลดการเกิดเชื้อโรค พืชเจริญเติบโตดี ลดการใช้พลังงานในการแปรรูป ลดการเกิดไมโครพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ใช้เทคโนโลยี IOT ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในดิน เหมาะแก่การใช้งานปลูกพืชอินทรีย์รางวัลเหรียญทอง กลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากการคิดค้นนวัตกรรม “กรีนโกร์ว (ถุงเพาะชำยางรักษ์โลก)” โดย นายวรพงศ์ ชูใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1“กรีนโกร์ว (ถุงเพาะชำยางรักษ์โลก)” เป็นถุงเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ พืชเจริญเติบโตได้ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้เทคนิคพิเศษในการผสมยางพารากับแป้งมาเคลือบถุงกระดาษคราฟท์ที่ทำจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยลดการเผา ลด PM 2.5 และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวโรฒ บุญราศรี อาจารย์ที่ปรึกษาจากหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับทั้ง 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่มาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตรในมิติต่าง ๆ แล้วยังช่วยเพิ่มช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม   ซึ่งผลงานนวัตกรรมดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการจดสิทธิบัตร เตรียมต่อยอดขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมหรือผู้ประกอบการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมนี้ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น”สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053 875000  และ  090 519 4926 ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
12 มีนาคม 2567     |      1618
คณะวิศวะฯ ม.แม่โจ้ นำร่อง “ลดเผา ลดควัน แป๋งปุ๋ยบนดอย” ชูนวัตกรรมปุ๋ยหมักไม่พลิกกลับกองฯ จัดการเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวบนพื้นที่สูงลดการเผา ลดฝุ่น PM2.5
คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำโดย อาจารย์ ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ รองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและกิจการพิเศษ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชนวัฒน์ นิทัศน์วิจิตร อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร  ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว ลัวฉือนี ต.บ่อแก้ว อ.สะเมิง จ. เชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการ ลดเผา ลดควัน แป๋งปุ๋ยบนดอย โดยได้นำร่องรับซื้อเศษข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ ราคากิโลกรัมละ 1 บาท จำนวนกว่า 40,000 กิโลกรัม (40 ตัน) เพื่อนำมาทำปุ๋ยอินทรีย์ลดการเผา โดยใช้ วิธีการหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 ที่เป็นนวัตกรรมองค์ความรู้ของอาจารย์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการลดปัญหาการเผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนนอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนมีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพใช้ในพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสามารถต่อยอดจำหน่ายเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาการเผาตั้งแต่ต้นทาง และเป็นการสร้างมูลค่าจากเศษวัสดุเหลือทิ้ง ตามแนวทางโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย (BCG Model) และเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา นายวิโรจน์ ดวงสุวรรณ์นายอำเภอสะเมิง ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินกิจกรรมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการเผาของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ่อแก้ว ลัวฉือนี ต.บ่อแก้ว  อ.สะเมิง จ. เชียงใหม่ พร้อมทั้งในกำลังใจทีมงานให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จอาจารย์ ดรแสนวสันต์ ยอดคำ รองคณบดีฯ คณะวิศวะกรรมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีการหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 เป็นนวัตกรรมที่ไม่ซับซ้อน เพียงแค่นำเศษพืชผลเหลือทิ้งทางการเกษตรมาหมักรวมกับมูลสัตว์ แล้วดูแลความชื้นในกองให้เหมาะสม ไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ยให้ยุ่งยาก โดยใช้เวลาหมักเพียง 2 เดือนเท่านั้น  ซึ่งจากโครงการในครั้งนี้เราจะได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานปุ๋ยอินทรีย์ตามเกณฑ์ของกรมวิชาการเกษตรประมาณ 60 ตัน มีมูลค่าประมาณ 480,000 บาท เกษตรกรสามารถนำไปใช้ในพื้นที่การเกษตรของตนเองเพื่อลดต้นทุน หรือนำไปจำหน่ายได้ โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการจัดการเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร หรือจากการเก็บเกี่ยวเพื่อลดการเผา ลดฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ PM2.5) ได้อย่างเป็นรูปธรรม”สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือหน่วยงานต่างๆ ที่สนใจนวัตกรรมการหมักปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกอง วิธีวิศวกรรมแม่โจ้ 1 สามารถติดต่อรายละเอียดได้ที่  คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทรศัพท์ 0-5387-5000 ถึง 15 ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
8 มีนาคม 2567     |      1236
ตามรอยคุณพระช่วงฯ บิดาเกษตรแม่โจ้ เส้นทางการเติบโตมหาวิทยาลัยแม่โจ้ครบ 88 ปี
ไม่มีพระช่วงฯ...ไม่มีแม่โจ้” หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 88 ปี ก่อนจะเป็นมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในปัจจุบัน14 สิงหาคม 2476 คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ ยืมม้าจากนายอำเภอสันทราย บุกเข้าดงแม่โจ้ พร้อมคนนำทางมุ่งหน้าต่อไปตามทางเกวียนใช้เวลาชั่วโมงกว่าถึงดงไม้และป่าโปร่งที่เรียกว่า “ดงแม่โจ้” มีพื้นที่ประมาณ 800  ไร่ มีหมู่บ้านเล็กๆอยู่ชายป่าประมาณ 10 หลังคาเรือน ถึงแม้ผืนดินแห่งนี้จะมีสภาพเป็นดินเลว แต่มีแหล่งน้ำเพียงพอที่สามารถปรับแก้ไขสภาพดินให้ดีขึ้นได้ ท่านจึงสร้างสถานีกสิกรรมภาคพายัพขึ้นบนผืนดินแห่งนี้ ต้นเดือนเมษายน 2477 เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี รมต.กระทรวงธรรมการ(สมัยนั้น) มีบัญชาให้จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมประจำภาคเหนือขึ้นที่  ดงแม่โจ้ ติดพื้นที่ด้านทิศใต้ของสถานีทดลองกสิกรรมภาคพายัพ แต่งตั้งให้ พระช่วงเกษตรศิลปการ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ใหญ่17 พฤษภาคม 2477 นักเรียนรุ่นแรกเดินทางมารายงานตัวครบทั้ง ๔๖ คน (ภายหลังมาอีก ๒ คน รวมเป็น ๔๘ คน)7 มิถุนายน 2477ได้เปิดการเรียนการสอนครั้งแรก  โดยคุณพระช่วงเกษตรศิลปการบิดาเกษตรแม่โจ้   ผู้บุกเบิกและก่อตั้งแม่โจ้ พร้อมทั้งจัดให้มีพิธีไหว้ครูขึ้นในวันนี้ได้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ข้าหลวงประจำจังหวัดและธรรมการจังหวัดมาร่วมให้โอวาท ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ถูกจารึกเป็นประวัติศาสตร์อันสำคัญของแม่โจ้ ถือเป็นจุดกำเนิดแม่โจ้และพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน  88 ปี จากโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมภาคเหนือ  สู่...มหาวิทยาลัยแม่โจ้  มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มสถาบันอุดมศึกษากลุ่มที่ 2    มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม  ในวันนี้   แม่โจ้ได้บุกเบิก ฝ่าฟัน ต่อสู้ และ เจริญเติบโต สั่งสมประสบการณ์ บันทึกประวัติศาสตร์ด้านการเกษตรของไทย ยึดมั่นไว้ซึ่งอุดมการณ์ มุ่งสู่วิสัยทัศน์การ“เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่มีความเป็นเลิศทางด้านการเกษตรในระดับนานาชาติ” ด้วยปรัชญา “มุ่งมั่นพัฒนาบัณฑิตสู่ความเป็นผู้อุดมด้วยปัญญา  อดทนสู้งานเป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม เพื่อความเจริญรุ่งเรืองวัฒนาของสังคมไทยที่มีการเกษตรเป็นรากฐาน” และพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปด้วยยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยแม่โจ้สู่ปีที่ 100 (จาก 24772577)  และหากจะเอ่ยถึงบัณฑิตแม่โจ้ แม้กาลเวลาจะล่วงผ่านมาหลายยุคหลายสมัย บัณฑิตแม่โจ้ก็ยังคงมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น “เป็นนักปฏิบัติที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในสาขาวิชา” ด้วยบุคลิกของผู้ที่ “เลิศน้ำใจ  วินัยดี  เชิดชูประเพณี  สามัคคี อาวุโส” ซึ่งแสดงถึงความเป็นลูกแม่โจ้มาจวบจนปัจจุบัน โดยมีบทบัญญัติแม่โจ้เป็นกรอบแนวทางในการปฏิบัติ  ด้วยความเหนียวแน่น กลมเกลียว ชาวแม่โจ้ระลึกถึงคุณแผ่นดิน แม่โจ้จึงยืนหยัดมาจนถึงวันนี้ และพร้อมที่จะก้าวต่อไปด้วยความภาคภูมิ   7 มิถุนายน 2565  แม่โจ้ครบ 88 ปีมหาวิทยาลัยจัดให้มีพิธีทำบุญวันคล้ายสถาปนาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ภาคเหนือ ประจำปี 2565   โดยกิจกรรมจะเริ่มตั้งแต่เวลา 08.09 น. เป็นต้นไป มีพิธีบวงสรวงพระพิรุณทรงนาค นำโดยนายกสภามหาวิทยาลัย นายกสมาคมศิษย์เก่า อธิการบดีพร้อมคณะผู้บริหาร ณ อาคารช่วงเกษตรศิลป เวลา 09.00 น. พิธีวางพวงมาลาคารวะอนุสาวรีย์คุณพระช่วงเกษตรศิลปการ “บิดาเกษตรแม่โจ้”  ผู้บุกเบิกก่อตั้งแม่โจ้ และได้รับเกียรติจาก ทายาทพระช่วงเกษตรศิลปการ มาร่วมในพิธี  เวลา 10.00 น. พิธีทำบุญทางศาสนา ณ อาคารแผ่พืชน์ และในเวลา 13.30 น. พิธีสมโภชหอระฆัง ณ หอบริเวณหอระฆังศาลเจ้าพ่อโจ้ชาวแม่โจ้พร้อมใจกันร่วมพิธีทำบุญวันคล้ายวันสถาปนาโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม ภาคเหนือ ประจำปี 2565    มาร่วมกันแสดงพลังสามัคคี  ร่วมรำลึกถึงเส้นทางการก้าวย่างของแม่โจ้ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีรากฐานด้านการเกษตรที่เก่าแก่ของไทยมหาวิทยาลัยมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ที่จะสร้างคุณูปการต่อวงการศึกษาไทยให้ก้าวไกลต่อไปในอนาคต “แม่โจ้ มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต”(ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ)
10 มิถุนายน 2565     |      2123
ทั้งหมด 1 หน้า