ฝ่ายสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
MJU Corporate Communication Center
งานวิจัยแม่โจ้ สู่ สินค้าคุณภาพ โชว์งาน อว.แฟร์ 2024 พร้อมจัดจำหน่าย
 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (Agri Inno) นำทีมผู้ประกอบการภายใต้ความร่วมมือของศูนย์ Agri inno มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ได้ส่งเสริม ผลักดันผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนการนำงานวิจัยออกไปใช้ประโยชน์ (Licensing)จากมหาวิทยาลัยออกสู่เชิงพาณิชย์ และงานที่ได้รับทุนสนับสนุนผ่านกลไกรายภูมิภาค Regional Innovation Business Platform ของ NIA  เข้าร่วมงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืนด้วยพลังสหวิทยาการ หรือ งาน อว.แฟร์  2024  ที่จัดขึ้นโดยกระทรวง อว. ผสานพลังความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดงาน  ระหว่างวันที่ 22-28 ก.ค.2567  ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  กรุงเทพฯรศ.ดร.ดวงพร  อมรเลิศพิศาล  หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมทางการเกษตรสำหรับบัณฑิตผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า  “ ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมจัดแสดงผลงานและนวัตกรรม ในงาน อว.แฟร์ 2024  มีผลิตภัณฑ์ที่มาจากผลงานวิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้  4 ผลงาน ได้แก่ผลิตภัณฑ์ ImuneUp  ของ  บริษัท BIST Inno Reform เป็นผลิตภัณฑ์จากเห็ดมีสรรพคุณทางยาทำหน้าที่เสริมภูมิคุ้มกันในระดับเซลล์ (CELL based Immune Boosting Ingredient) ป้องกันโรคกลุ่ม NCDs ผ่านทดสอบระสิทธิภาพและความปลอดภัยในมนุษย์ ผลิตภัณฑ์แบรนด์ Vetnova  ของ บริษัท Ani Pproduct   นวัตกรรมเกี่ยวกับสัตว์  ได้แก่ DipDip ฟิล์มเคลือบจุ่มเต้านมโคจากธรรมชาติ และ Petty สเปรย์ป้องกัน และกำจัดปรสิตภายนอก ในสัตว์เลี้ยง โดยมีส่วนผสมจากสมุนไพร และใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียว (Green technology) เพื่อลดการใช้สารเคมี และเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันที่ยาวนาน ผลิตภัณฑ์ Pre, Pro, Postbiotics แบรนด์ Bioblend ของ บริษัท All About Extract ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพลำไส้ มีส่วนผสมสำคัญจากสารประกอบเชิงหน้าที่เสริมภูมิคุ้มกัน(Functional Ingredients) ได้แก่ พรีไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ โพสไบโอติกส์ ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีทั้งร่ายกายและจิตใจ ผลิตภัณฑ์น้ำหอมแบรนด์  JOH ของ บริษัท BSN Life นวัตกรรมน้ำหอมผสานน้ำมันสกัดจาก Crocodile Oil  ทำหน้าที่เป็นสารตรึงกลิ่นหอมขึ้นให้กับน้ำหอมของ JOH  ทำให้ความหอมติดทนยาวนานพร้อมบำรุงผิว ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองแม้ผิวบอบบางนอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการต่อยอดโดยผู้ประกอบการที่ร่วมทุนและผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการที่ ศูนย์ Agri inno แม่โจ้ ช่วยพัฒนาโครงการนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการโดยนำงานวิจัยของนักวิจัยที่มีศักยภาพมาต่อยอดเชิงพาณิชย์ ร่วมจัดแสดงในงานนี้อีกมากกว่า 10 ราย  ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมจัดแสดง ในงาน อ.ว.แฟร์ 2024  ครั้งนี้ ได้รับความสนใจ และการตอบรับเป็นอย่างดี  ถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการที่นำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ อย่างเป็นรูปธรรม” ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
6 สิงหาคม 2567     |      924
นศ.วิศวะฯ ม.แม่โจ้ คว้า 2 รางวัล ระดับชาติ งาน FENETT 2024
นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  คว้ารางวัลระดับชาติ ในการนำเสนอผลงานภาคบรรยาย งานประชุมวิชาการวิศวกรรมอาหารแห่งชาติ ครั้งที่ (The 10th National Food Engineering Conferentce, FENETT2024 ณ  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา เมื่อต้นเดือนเมษายน 2567 ซึ่งมีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศส่งผลงานเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้สามารถคว้ารางวัลมาได้ 2  ผลงาน  ได้แก่รางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย เรื่อง“การออกแบบและพัฒนาเครื่องคัดเมล็ดกาแฟพีเบอร์รี่” ผลงานวิจัยของนายอนุพงศ์ เขื่อนแก้ว และ นายอำนาจ ธนูไตร นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเกษตร โดยมี รศ.ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา สำหรับเครื่องคัดเมล็ดกาแฟพีเบอร์รี่  จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกษตรกร สามารถคัดเกรดเมล็ดกาแฟพีเบอร์รี่ ซึ่งเป็นเมล็ดกาแฟขนาดที่มีรสชาติกลมกล่อมกว่าปกติและปะปนมาในเมล็ดกาแฟธรรมดาโดยสามารถคัดแยกเกรดได้เร็วขึ้น 216% เมื่อเทียบกับใช้คนคัดแยก ช่วยเพิ่มรายได้จากการคัดเกรดกาแฟพีเบอร์รี่ได้มากกว่าเดิมถึง 6 เท่ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ภาคบรรยาย เรื่อง “การวิเคราะห์การไหลของอากาศแบบบังคับ ภายในตู้รมแก๊สโอโซนสำหรับลำไยสดผลเดี่ยว ด้วยเทคนิคพลศาสตร์ของไหลเชิงคำนวณ” ผลงานวิจัยของ นายอนุชา ประมวล และ นายมนัญชัย  บุญคง นักศึกษาสาขาวิศวกรรมเกษตร โดยมี รศ.ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งผลงานวิจัยนี้จะช่วยคำนวณการไหลของแก๊สโอโซนในตู้รมแก๊สฯ ให้ไหลผ่านผลลำไยบรรจุกล่องให้เหมาะสม  สัมผัสผลลำไยได้สม่ำเสมอ และปลอดเชื้อได้ทั่วถึง  ลำไยที่ผ่านการรมด้วยแก๊สโอโซน มีอายุการเก็บรักษานานขึ้น คงความสดได้ดี ชะลอการเกิดเชื้อราบนผลลำไยได้ถึง  18 วัน เหมาะสำหรับการเพิ่มมูลค่าลำไยผลเดี่ยวให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยมปลอดสารพิษ เป็นทางเลือกเพื่อทดแทนการใช้สารซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับลำไยสดได้ด้าน รศ.ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์  อาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัย กล่าวว่า  “นอกเหนือจากรางวัลที่นักศึกษาได้รับในครั้งนี้ คือ นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดประโยชน์ได้จริง  เป็นแรงผลักสำคัญที่จะทำให้นักศึกษาได้ต่อยอดความคิด และพัฒนาผลงานออกมาเรื่อย ๆ  และสำหรับผลงาน 2 ชิ้นนี้ อยู่ในระหว่างการจดอนุสิทธิบัตรและวางแผนในการพัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อให้เกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น โดยทางคณะและมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะสนับสนุนนักศึกษาให้ถึงที่สุด ” ฝ่ายสื่อสารองค์กร  ม.แม่โจ้  // รายงาน
25 เมษายน 2567     |      564
นศ.บริหารธุรกิจ ม.แม่โจ้ รับรางวัล “นำเสนอดี” งานประชุมวิชาการระดับชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 8 พัฒนาระบบตรวจนับครุภัณฑ์แบบคิวอาร์โค้ด ช่วยให้งานตรวจนับครุภัณฑ์เป็นเรื่องง่ายๆ
นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้รับรางวัล “นำเสนอดี” ภาคบรรยาย จากผลงาน การพัฒนาระบบตรวจนับครุภัณฑ์โดยใช้คิวอาร์โค้ด : กรณีศึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  ในการประชุมวิชาการระดับชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 8  ซึ่งจัดขึ้นโดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯการพัฒนาระบบตรวจนับครุภัณฑ์โดยใช้คิวอาร์โค้ด :  กรณีศึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ผลงานของ นางสาวขวัญจิรา ชมภู และ นางสาวสวิณี มูลฟอง นักศึกษาสาขาระบบสารสนเทศทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตร ชูชื่น อาจารย์ประจำหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต  เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา  โดยระบบนี้เป็นการเก็บข้อมูลจากปัญหา (Pain Point) ที่เกิดขึ้นและความต้องการ (requirement) จากผู้ใช้งานจริงมาพัฒนาชิ้นงานจนได้ทำการพัฒนาเป็นระบบตรวจนับครุภัณฑ์ โดยใช้เทคโนโลยี  QrCode  ลดความยุ่งยากซับซ้อน ที่ช่วยในเรื่องของการตรวจนับได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องจดบันทึกลงเล่มครุภัณฑ์ มีความแม่นยำในการตรวจนับ มีการแสดงข้อมูลครุภัณฑ์ที่สแกนได้ทันที สามารถสแกนทำการตรวจนับได้ทุกที่ รวมถึงการเรียกดูข้อมูลที่ง่ายขึ้นและข้อมูลเป็นแบบเรียลไทม์ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตร ชูชื่น อาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การพัฒนาระบบตรวจนับครุภัณฑ์โดยใช้คิวอาร์โค้ด  กรณีศึกษาสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ  เป็นผลงานที่ให้นักศึกษาได้นำความรู้ที่เรียนมาต่อยอดจากงานที่พัฒนาในรายวิชาสหกิจศึกษาและรายวิชาโครงงานระบบสารสนเทศทางธุรกิจ โดยได้เก็บรวบรวมข้อมูลจากปัญหา รวมถึงความต้องการ จากผู้ใช้งานจริงมาพัฒนาชิ้นงานดังกล่าวนี้ออกมา จนได้ทำการพัฒนาระบบที่สามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำงาน และยังสามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบเพื่อปรับใช้กับงานอื่นๆ ได้อีกด้วย รางวัลในครั้งนี้จึงเป็นเหมือนแรงบันดาลใจให้นักศึกษาได้พัฒนาผลงานอื่นๆ ต่อเนื่องไปได้อีกเรื่อย ๆ ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อีกทางหนึ่ง” ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
21 มีนาคม 2567     |      677
เด็กวิศวะฯ การยางฯ ม.แม่โจ้ คว้า 2 เหรียญทอง I-New Gen Award 2024 สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเกษตร สร้างรายได้ ลดใช้พลังงาน รักษ์โลก
 นักศึกษาหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้า 2 รางวัลเหรียญทอง จากการประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม “Thailand New Gen Inventors Award 2024” (I-New Gen Award 2024) จัดขึ้นโดย สํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา  ซึ่งมีการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์จากนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมัธยม อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ในปีนี้คัดเลือกผลงานจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จากทั่วประเทศกว่า 1,000 ผลงาน จาก 330 สถาบันทั่วประเทศ  และมหาวิทยาลัยแม่โจ้สามารถคว้ามาได้ถึง  2 เหรียญทอง ในระดับอุดมศึกษา ได้แก่รางวัลเหรียญทอง กลุ่มเกษตร จากการคิดค้นนวัตกรรม “พอรัส มัลซ์ (ผ้ายางคลุมดินอัจฉริยะ)” โดย นางสาวรัชนี จิระพาณิชย์ และ นางสาวศศินิภา บุญมา  นักศึกษาชั้นปีที่ 1“พอรัส มัลซ์ (ผ้ายางคลุมดินอัจฉริยะ)” เป็นนวัตกรรมผ้ายางคลุมดินที่ช่วยระบายอากาศและน้ำได้ดี ลดการเกิดเชื้อโรค พืชเจริญเติบโตดี ลดการใช้พลังงานในการแปรรูป ลดการเกิดไมโครพลาสติกที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ ใช้เทคโนโลยี IOT ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในดิน เหมาะแก่การใช้งานปลูกพืชอินทรีย์รางวัลเหรียญทอง กลุ่มพลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ จากการคิดค้นนวัตกรรม “กรีนโกร์ว (ถุงเพาะชำยางรักษ์โลก)” โดย นายวรพงศ์ ชูใจ นักศึกษาชั้นปีที่ 1“กรีนโกร์ว (ถุงเพาะชำยางรักษ์โลก)” เป็นถุงเพาะชำที่สามารถย่อยสลายได้โดยธรรมชาติ พืชเจริญเติบโตได้ดี ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ใช้เทคนิคพิเศษในการผสมยางพารากับแป้งมาเคลือบถุงกระดาษคราฟท์ที่ทำจากเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ช่วยลดการเผา ลด PM 2.5 และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกได้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิวโรฒ บุญราศรี อาจารย์ที่ปรึกษาจากหลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับทั้ง 2 ผลงานที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นเวทีให้นักศึกษาได้ใช้ความรู้ คิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ที่มาช่วยแก้ปัญหาด้านการเกษตรในมิติต่าง ๆ แล้วยังช่วยเพิ่มช่องทางสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ช่วยเกษตรกรชาวสวนยางให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม   ซึ่งผลงานนวัตกรรมดังกล่าว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการจดสิทธิบัตร เตรียมต่อยอดขยายผลเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมหรือผู้ประกอบการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงนวัตกรรมนี้ได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น”สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ หลักสูตรเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โทร. 053 875000  และ  090 519 4926 ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
12 มีนาคม 2567     |      1609
ม. แม่โจ้ คว้าอันดับ 9 ของมหาวิทยาลัยไทย การจัดอันดับ SCImago Institution Rankings 2023 องค์กรที่มีผลงานวิจัยระดับโลก
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567  SciMago Institutions Rankings  สถาบันการจัดอันดับที่เน้นให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและคุณภาพทางวิชาการในเวทีโลก เปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับองค์กรที่มีผลงานวิจัยระดับโลก ประจำปี 2023 ซึ่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คว้าอันดับที่ 9 ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย SciMago Institutions Rankings เป็นระบบการจัดอันดับที่ได้รับความนับถือจากทั่วโลก โดยมีการประเมินมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ผลการวิจัย ความร่วมมือระหว่างประเทศ และผลกระทบระดับสากล ระบบการจัดอันดับของ SciMago Institutions Rankings นอกจากใช้วิธีการพิจารณาปริมาณงานวิจัย แต่ยังมีการประเมินคุณภาพของงานวิจัยอีกด้วยวิธีการจัดอันดับ SciMago Institutions Rankings:ผลการวิจัย: SciMago วิเคราะห์ปริมาณผลงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยผลิต ซึ่งรวมถึงบทความทางวิทยาศาสตร์ บทความที่นำเสนอในการประชุม และงานวิจัยทางวิชาการอื่น ๆความร่วมมือระหว่างประเทศ: ระดับของความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและนักวิจัยนานาชาติมีผลกระทบมากที่สุดต่อการจัดอันดับ ดังนั้นสถาบันที่มีเครือข่ายทั่วโลกและมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งมักได้รับคะแนนสูงนวัตกรรมและผลกระทบ: SciMago พิจารณาผลกระทบของงานวิจัยโดยการวัดการอ้างอิง (Citation) และการมีผลต่องานวิจัยในวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ (Impact) มหาวิทยาลัยที่ผลิตงานวิจัยที่มีผลกระทบ (Impact) จะได้รับคะแนนสูงการตีพิมพ์เผยแพร่เป็นสาธารณะ: ระบบการจัดอันดับให้ความสำคัญมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการเผยแพร่งานวิจัย ดังนั้นสถาบันที่สนับสนุนการกระจายความรู้ไปยังสาธารณะจะได้รับคะแนนสูงความเป็นเลิศในวารสาร: SciMago ประเมินคุณภาพของวารสารที่มหาวิทยาลัยเผยแพร่งานวิจัย วารสารที่ได้รับการจัดอันดับสูงมีผลทำให้ได้คะแนนสูงความสำเร็จของมหาวิทยาลัยแม่โจซึ่งได้รับอันดับที่ 9 จากสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ใน SciMago Institutions Rankings ไม่เพียงสะท้อนถึงการทุ่มเทในการวิจัยคุณภาพสูง ความร่วมมือระหว่างประเทศ และนวัตกรรมทางวิชาการ แต่ยังส่งเสริมให้สถาบันการศึกษาของไทยเป็นที่นับถือในเวทีวิชาการในระดับโลกอ้างอิง : https://www.scimagoir.com/institution.php?idp=8229
13 กุมภาพันธ์ 2567     |      1987
ม.แม่โจ้ คว้ารางวัล "Gold Award" กำเนิดพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้ งาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับรางวัล "Gold Award" จากผลงานวิจัย "กำเนิดพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้" ซึ่งได้ส่งเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ภายใต้ แนวคิด งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิรด์ กรุงเทพมหานครโอกาสนี้ ช่วงเช้าวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ผู้ช่วยศาสตราจารย์พาวิน มะโนชัย รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พร้อมนักวิจัย ร่วมเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน รองศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ สุวรรณรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยเข้ารับรางวัล "Golden Award" จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)สำหรับผลงาน "กำเนิดพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้" ผลงานของทีมนักวิจัยหน่วยความเป็นเลิศด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวมหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำโดย ผศ.ดร.วราภรณ์ แสงทอง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2547 ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท ของทีมนักวิจัย ในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เทคโนโลยีเครื่องหมายโมเลกุลช่วยในการคัดเลือกเอาคุณสมบัติเด่นที่ต้องการให้ได้พันธุ์ข้าวหอมคุณภาพเพื่อคนไทย ได้ลงแปลงปลูกกระจายไปทั่วประเทศ และพร้อมที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อเผยแพร่ออกสู่เกษตรกรต่อไป ซึ่งได้ความสนใจจากคณะกรรมการและผู้ร่วมงานเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ ผลงาน "กำเนิดพันธุ์ข้าวหอมแม่โจ้" ได้รับรางวัล Gold Award ในครั้งนี้ สร้างความภาคภูมิใจให้กับทีมงาน และมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นอย่างมาก??เตรียมพบกับการเปิดตัว "ข้าวพันธุ์ใหม่" ในงานเกษตรแม่โจ้ 90 ปี เกษตร : อาหาร : สุขภาพ ระหว่างวันที่ 16-24 ธันวาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ฝ่ายสื่อสาร ม.แม่โจ้ // รายงาน
15 สิงหาคม 2566     |      1446
2 ผลงานวิจัย ม.แม่โจ้ คว้า 3 รางวัลระดับโลก งาน The 16th International Invention and Innovation show (INTARG 2023) ณ สาธารณรัฐโปแลนด์
2 ผลงานวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมระดับนานาชาติ  ในงาน The 16th International Invention and Innovation show (INTARG 2023) ซึ่งจัดโดย  Eurobusiness-Haller ณ  เมืองคาโตไวซ์ สาธารณรัฐโปแลนด์ โดยมีประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปและเอเชีย นำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงมากกว่า 30 ประเทศ โดยผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ได้รับ 3 รางวัล ได้แก่ รางวัล เหรียญทอง ผลงานวิจัย เรื่อง "เทคโนโลยีเฮอร์เดิลด้วยโอโซนและเคมีเพื่อลดปริมาณไวรัสโคโรน่าปนเปื้อนในทุเรียนส่งออก"  โดย รศ. ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์  ประธานหลักสูตรวิศวกรรมอาหาร  คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ รศ.ดร.จตุรภัทร วาฤทธิ์   กว่าวว่า “เนื่องจากประเทศไทยส่งออกทุเรียนไปต่างประเทศ มากกว่า 5 แสนตัน/ปี ซึ่งเป็นผลไม้หลักในการส่งออก แต่ด้วยสถานการณ์ Covid-19 ประเทศจีนมีนโยบาย Zero-CoVid  ดังนั้นหากมีการตรวจพบการปนเปื้อนเชื้อ Covid-19 ที่ทุเรียน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนไทยอย่างรุนแรง ทำให้ประเทศอาจสูญเสียรายได้ เกษตรกรได้รับผลกระทบ  ซึ่งเทคโนโลยีเฮอร์เดิลด้วยโอโซนและเคมี  หรือ เทคโนโลยีผสมผสาน โดยการใช้แก๊สโอโซน ร่วมกับสเปรย์โซเดี่ยม ไฮโปครอไรด์  เพื่อลดปริมาณไวรัสโคโรน่าปนเปื้อนในทุเรียนส่งออก เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเฮอร์เดิลระหว่างก๊าซโอโซนและสารเคมี เพื่อลดปริมาณไวรัสโคโรน่าที่ตกค้างปนเปื้อนในผลทุเรียน พบว่าการใช้สเปรย์ NaOCl และตามด้วยการรมก๊าซโอโซนที่ 900 ppm แล้วเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 13 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 12 ชั่วโมง สามารถลดปริมาณไวรัส PEDV ที่ตกค้างให้ต่ำกว่าเกณฑ์วัดขั้นต่ำ cut-off ของชุดทดลองที่ค่า Ct>36=negative ซึ่งถือว่าเป็นการลดปริมาณไวรัสปนเปื้อนได้ 100%   ผลทุเรียนที่ทดสอบมีอัตราสุกตามปกติ  ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพของทุเรียน ผู้บริโภคทุเรียนปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นในการส่งออกผลไม้ไปยังต่างประเทศอีกครั้ง”รางวัล เหรียญทองแดง และ รางวัล certificate of appreciation proudly presentation จาก Research Institute of creative education, Vietnam  ผลงานวิจัย เรื่อง "ต้นแบบการพัฒนาระบบผลิตน้ำเพื่อการเกษตรจากอากาศโดยใช้ความเย็นพื้นดินร่วมกับพลังงานแสงอาทิตย์"  โดย ผศ.ดร.นิกราน หอมดวง คณบดีวิทยาลัยพลังงานทดแทน และ ผศ. ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ รองคณบดี วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผศ.ดร.นิกราน หอมดวง  ให้ข้อมูลว่า  “ต้นแบบระบบผลิตน้ำจากอากาศเป็นนวัตกรรมเพื่อสกัดน้ำในชั้นบรรยากาศ ช่วยปัญหาด้านภัยแล้งของเกษตรกร และส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อย รวมไปถึงการพัฒนาต่อยอดในการผลิตน้ำดื่มในพื้นที่โรงเรียนตระเวนชายแดน หรือพื้นที่ชุมชนบนพื้นที่สูง โดยนวัตกรรมดังกล่าวสามารถสกัดน้ำในชั้นบรรยากาศได้ในอัตรา 100-200 ลิตรต่อวัน และใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานหลักให้กับระบบนวัตกรรมดังกล่าว ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่ง”ด้าน ผศ. ดร.กิตติกร สาสุจิตต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า  “ผลสำเร็จของโครงการได้มีการติตดั้งระบบทดสอบจริงให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านขุนคง อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และในปีถัดไปมีเป้าหมายการติดตั้งระบบให้กับโรงเรียนและชุมชนบนพื้นที่สูงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อสำหรับการผลิตน้ำดื่มเพื่อการอุปโภคและบริโภค เพื่อให้สามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำและน้ำที่ได้จากนวัตกรรมนี้มีผ่านการตรวจค่ามาตรฐานของน้ำดื่ม ก็อยู่ในเกณฑ์ที่บริโภคและอุปโภคได้ ซึ่งงานวิจัยนี้มีประโยชน์ต่อพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำ หรือมีน้ำน้อย ซึ่งพบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย”
1 มิถุนายน 2566     |      5762
นศ.วิศวะฯ แม่โจ้ คว้า 2 รางวัล งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ประเทศอินโดนีเซีย
นักศึกษาคณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ม.แม่โจ้ คว้า 2 รางวัล “Best Project Awards” และ “Top Project Awards” จากงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ประเทศอินโดนีเซียงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Virtual Undergraduate Symposium 2021 (NIVUS 2021) เป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติของนักศึกษาระดับปริญญาตรี จัดโดย Universiti Teknologi MARA (UiTM) Cawangan Negeri Sembilan Kampus Kuala Pilah ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่ง นางสาวเบญญาภา นามดำรัสศิริ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้  ได้รับ 2 รางวัล “Best Project Awards” และ “Top Project Awards” จากผลงานวิจัยเรื่อง การพัฒนาผงปรุงรสจากผักคะน้าแม๊กซิโกสูตรโซเดียมต่ำ (Development of Low Sodium Seasoning Powder Product from Chaya Leaves) โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีระพล เสนพันธุ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษานางสาวเบญญาภา นามดำรัสศิริ กล่าวเพิ่มเติมว่า  "ผักไชยา หรือผักคะน้าแม๊กซิโก มีคุณค่าทางโภชนาการสูง อุดมไปด้วยโปรตีน การนำผักไชยาหรือ คะน้าเม็กซิโก มาทำเป็นผงปรุงรสจากธรรมชาติสูตรโซเดียมต่ำ ได้เป็นผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ปราศจากผงชูรส ใช้ปรุงรสอาหารที่ให้รสอร่อยหรือรสอูมามิ เหมาะสำหรับคนทั่วไปและผู้ที่รักสุภาพอย่างแท้จริง "ทั้งนี้ผลงานวิจัยดังกล่าวอกำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยต่อยอดเพื่อจำหน่ายทางการค้าและยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไปในอนาคต ฝ่ายสื่อสารองค์กร ม.แม่โจ้ // รายงาน
19 กรกฎาคม 2564     |      608
ผลงานวิจัยอาจารย์ ม.แม่โจ้ เจ๋ง “ผลิตไฟฟ้าจากการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์” สร้างพลังงานทดแทน ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม
"ระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์" ต้นแบบนวัตกรรมสัญชาติไทยเครื่องแรก ที่ใช้เทคนิคการผลิตไฟฟ้าและความร้อนร่วมกับการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ระบบแรกของประเทศไทย ผลงานวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชวโรจน์ ใจสิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้และทีมงาน ได้รับรางวัลระดับดี สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ในการพิจารณารางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) รองศาสตราจารย์ ดร.นัฐพร ไชยญาติ หัวหน้าทีมนักวิจัย กล่าวว่า “ผลงานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความต้องการแก้ปัญหาปริมาณขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่มีปริมาณมากในปัจจุบัน โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสามารถลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะติดเชื้อทางการแพทย์ อีกทั้งยังสอดรับกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของกระทรวงพลังงานได้อีกด้วย ซึ่งได้ทำการศึกษาวิจัยมาประมาณ 5 ปี โดยได้มีการลงนามความความร่วมมือกับบริษัทเอกชน จำนวน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท นำวิวัฒน์การช่าง (1992) จำกัด , บริษัท ทานิตะ แฟบริเคชั่น จำกัด และ บริษัท 89 อินเวนชั่น แอนด์ ไอเดีย จำกัด ในการสนับสนุนทุนวิจัยและส่วนอื่น ๆ ที่ เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยระบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์ เครื่องนี้เป็นเครื่องต้นแบบขนาดเล็ก มีอัตราการเผาไหม้เชื้อเพลิงขยะติดเชื้อประมาณ 250 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ด้วยการนำขยะติดเชื้อทางการแพทย์ที่ผ่านการบำบัดด้วยเทคนิคบด ย่อย และฆ่าเชื้อด้วยความร้อน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงและถ่ายเทความร้อนจากกระบวนการเผาไหม้ให้แก่น้ำสะอาด ซึ่งนวัตกรรมการถ่ายเทความร้อนภายในห้องเผาไหม้โดยตรงให้แก่ของไหลสะอาด ถือได้ว่าเป็นต้นแบบเตาเผาขยะเครื่องแรกของประเทศไทยอีกด้วย จากนั้นนำความร้อนที่ได้จ่ายให้แก่วัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์เพื่อผลิตไฟฟ้า และทำให้ได้พลังงานไฟฟ้าสุทธิประมาณ 20 กิโลวัตต์ชั่วโมง หรือ 20 หน่วยไฟฟ้า และจากการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ พบว่า การกำจัดขยะติดเชื้อ 1 กิโลกรัม มีต้นทุนโดยเฉลี่ยตลอดโครงการเพียง 3.185 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องจ้างขนขยะติดเชื้อทางการแพทย์ไปกำจัดกิโลกรัมละประมาณ 10-15 บาท ขึ้นกับระยะทางของโรงพยาบาล รวมทั้งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าโดยเฉลี่ยตลอดโครงการ 3.302 บาทต่อหน่วย ที่สำคัญสามารถควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานควบคุมของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ผลงานวิจัยชิ้นนี้ ยังเคยได้รับรางวัลระดับดีมาก การประกวดข้อเสนอโครงการผลงานนวัตกรรม และรางวัลเหรียญทองการประกวดผลงานนวัตกรรม ประเภทผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ด้านการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อุปกรณ์อัจฉริยะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2563 ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา  รวมทั้งได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการ Thailand New Gen Inventors Award 2021 (I-New Gen Award 2021) ในงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2564 ในชื่อผลงานสิ่งประดิษฐ์ ระบบผลิตไฟฟ้าวัฏจักรแรงคินสารอินทรีย์จากพลังงานทดแทนแบบผสมผสานของขยะชุมชนและพลังงานแสงอาทิตย์ในระหว่างวันที่ 26-30 พฤษภาคม 2564 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จะจัดงานมอบรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ รางวัลผลงานวิจัย รางวัลวิทยานิพนธ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 ในงาน "วันนักประดิษฐ์" ประจำปี 2564 เพื่อมอบรางวัลอย่างเป็นทางการให้กับผู้ได้รับรางวัลประเภทต่าง ๆ ต่อไปปัจจุบัน “ระบบต้นแบบการผลิตไฟฟ้าร่วมกับความร้อนจากขยะติดเชื้อทางการแพทย์” ได้รับการขยายผลต่อยอดเชิงพาณิชย์และใช้งานจริงในโรงพยาบาลและหน่วยงานของรัฐหลายแห่ง  และได้พัฒนาต่อยอดเพื่อใช้กับขยะทั่วไปอีกด้วย ผลงานวิจัยชิ้นนี้จึงเป็นอีกทางเลือกในการช่วยแก้ปัญหาการกำจัดขยะซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะติดเชื้อจากหน้ากากอนามัยใช้แล้วแล้วทิ้งที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นเพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องใช้ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19  พร้อมทั้งยังสร้างพลังงานทดแทนและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
1 กุมภาพันธ์ 2564     |      1687
ทั้งหมด 1 หน้า